พฤติกรรมการบริโภค อาหาร ที่ดีสามารถลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งได้ถึงร้อยละ 30 มีคำแนะนำ 9 ประการดังนี้
1. กินผักหลากสีทุกวัน
สารที่ก่อมะเร็งจะทำให้เกิดสารอนุมูลอิสระ( Free radicals) ซึ่งสารนี้จะทำปฏิกิริยากับโมเลกุลสำคัญในร่างกายเช่น โปรตีน ไขมัน และดีเอ็นเอ ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเซลล์ ซึ่งสารอนุมูลอิสระเหล่านี้จะถูกกำจัดได้ โดยสารต้านอนุมูลอิสระ(Antioxidant) ที่มีในผักและผลไม้ ผักแต่ละสีแต่ละชนิดมีประโยชน์และให้คุณค่าที่แตกต่างกัน ควรรับประทานผักให้หลากหลายหรือให้ครบ 5 สี จะเกิดประโยชน์อย่างยิ่งต่อสุขภาพ ตัวอย่างของผักและสารสีต่างๆได้แก่ สารสีแดง ในมะเขือเทศ มีสารต้านอนุมูลอิสระที่เรียกว่า ไลโคปีน (Lycopene) ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งกระเพาะอาหารและมะเร็งปอด สารสีเหลืองส้ม ในฟักทอง แครอท มีสารต้านอนุมูลอิสระแคโรทีนนอยด์ (Beta-carotene) และอุดมไปด้วยวิตามินที่สามารถต้านการเกิดสารอนุมูลอิสระในร่างกาย การบริโภคควรทำให้สุกก่อน สารสีเขียว ในคะน้า บล็อคโคลี่ ผักบุ้ง กวางตุ้ง ตำลึง มีวิตามินซี และวิตามินเอ สารสีม่วง ในกะหล่ำสีม่วง ชมภู่มะเหมี่ยว มะเขือม่วง ดอกอัญชัญ มีสารแอนโทไซยานิน (Anthocyanin) ช่วยยับยั้งสารก่อมะเร็ง สารสีขาว ในมะเขือขาวเปราะ ผักกาดขาว ดอกแค มีเบตาแคโรทีนสูง ช่วยกำจัดสารอนุมูลอิสระ
2. ขยันหาผลไม้เป็นประจำ
เช่นเดียวกับผักที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ
3. ทำอาหารธัญพืชและเส้นใย
ธัญพืชเต็มเมล็ด คือ ธัญพืชที่ไม่ผ่านการขัดสีหรือขัดสีน้อยที่สุดทำให้มีคุณค่าทางโภชนาการสูง เช่นใยอาหาร วิตามิน แร่ธาตุ ไฟโตนิวเตรียนท์ และสารต้านอนุมูลอิสระต่างๆ ตัวอย่างได้แก่ ข้าวกล้อง ข้าวสาลี ข้าวโพด ข้าวโอ๊ต ข้าวบาร์เลย์ ลูกเดือย นอกจากนี้ใยอาหารในธัญพืชยังทำหน้าที่สำคัญในการพาสารต่างๆที่เป็นโทษต่อร่างกายซึ่งติดบริเวณลำไส้ให้ขับถ่ายออกไป จึงช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งทางเดินอาหารและลำไส้ใหญ่
4. ใส่เครื่องเทศเสริมรสชาติอาหาร
เครื่องเทศหมายถึง ส่วนต่างๆของพืชที่นำมาใช้เป็นเครื่องปรุงอาหารหรือเพื่อให้อาหารมีกลิ่นหอม สารประกอบอินทรีย์ที่เป็นกลิ่นหอมของเครื่องเทศนั้นมาจากส่วนที่เป็นน้ำมัน(Fixed oil) และน้ำมันหอมระเหย (volatile oil) ส่วนรสชาติที่เผ็ดร้อนนั้นมาจากส่วนที่เป็นยาง (Resins) นอกจากนี้ยังมีสารหลายชนิดซึ่งมีสรรพคุณลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็ง และกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันได้
5. เพิ่มสารต้านอนุมูลอิสระ
ชาเขียวได้มาจากการนำยอดใบชาสดมาผ่านกระบวนการอบ เพื่อลดความชื้นโดยไม่ผ่านการหมัก ในชาเขียวมีสาร Polyphenol และ Flavonoids หรือที่เรียกว่า Catechins ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่สำคัญสามารถยับยั้งเซลล์มะเร็งได้ การดื่มชาเขียวควรดื่มทันทีหลังจากชงเสร็จเนื่อจากถ้าทิ้งไว้ ชาเขียวจะทำปฏิกิริยากับออกซิเจน ทำให้สูญเสียคุณค่าไป
6. ปรุงอาหารถูกวิธี
หลีกเลี่ยงการปิ้งย่างจนไหม้เกรียม ไม่รับประทานอาหารแบบดิบๆสุกๆโดยเฉพาะปลาน้ำจืดที่มีเกล็ด
7. หลีกหนีอาหารไขมัน
ไขมันมีสองประเภท ประเภทที่ไม่ดีได้แก่ไขมันอิ่มตัว ในนมเนย ไขมันสัตว์ มะพร้าว น้ำมัมปาล์ม และน้ำมันทอดซ้ำ ประเภทที่ดี ได้แก่ ไขมันไม่อิ่มตัว พบใน น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันข้าวโพด น้ำมันดอกคำฝอย น้ำมันเมล็ดฝ้าย น้ำมันดอกทานตะวันและปลาที่มีมันมากเช่น ปลาซาดีน ปลาแซลมอน ปลาทูน่า ปลาจาระเม็ด ปลาช่อน ปลาสำลีเป็นต้น
8. ลดบริโภคเนื้อแดง
ควรจำกัดการรับประทานเนื้อแดงให้เหลือเพียงสัปดาห์ละ 500 กรัม เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งลำไส้ ชุดอาหารที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งลำไส้ได้แก่ สเต็กคู่กับมันฝรั่ง เบคอนกับไข่ และเนื้อย่างโดยไม่มีผัก
9. ลดบริโภคเกลือแกงอาหารหมักดอง
ในวันหนึ่งๆควรบริโภคเกลือไม่เกินวันละ 6 กรัม การบริโภคอาหารที่มีปริมาณเกลือสูงเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร ควรเลี่ยงอาหารหมักดองหรือปรุงแต่งสีด้วยดินประสิวเช่น ปลาร้า ปลาส้ม แหนม กุนเชียง เนื้อเค็ม ปลาเค็ม เพราะมีสารก่อมะเร็งที่เรียกว่าสารไนโตรซามีน