โรคลมชัก คืออะไร?

โรคที่เกิดจากความผิดปกติของกระแสไฟฟ้าในสมอง ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการผิดปกติ เช่น นั่งนิ่งเหม่อลอย ชักเกร็ง หรือกระตุกเฉพาะส่วน เช่น ใบหน้า แขน ขา หรือในรายที่รุนแรงที่สุดอาจชักเกร็งกระตุกทั้งตัวและหมดสติ ซึ่งบางคนเรียกอาการนี้ว่า “โรคลมบ้าหมู” โดยอาการของโรคนี้มักมีสาเหตุของโรคต่างกันออกไปโดยขึ้นอยู่กับช่วงอายุ ดังนี้

วัยแรกเกิด:

มีสาเหตุมาจากภาวะสมองขาดออกซิเจน และการติดเชื้อระหว่างตั้งครรภ์

วัยเด็กเล็ก:

มักเกิดจากภาวะติดเชื้อในสมอง ไข้ขึ้นสูง

วัยรุ่น:

เกิดจากอุบัติเหตุต่อศีรษะ เช่น มอเตอร์ไซค์ล้ม หรือ ไม่ทราบสาเหตุ

วัยกลางคน:

เกิดจากภาวะเนื้องอกในสมอง

วัยสูงอายุ:

เกิดจากโรคอัมพาต โรคหลอดเลือดสมอง หรือโรคเนื้องอกสมอง

 วิธีการรักษา

โรคลมชัก สามารถทำการรักษาได้ 3 วิธี คือ

1. ทานยากันชัก:

ซึ่งการทานยานั้นต้องทานอย่างต่อเนื่องประมาณ 2 ปีครึ่งถึง 3 ปี ซึ่งวิธีนี้สามารถรักษาผู้ป่วยถึง 2 ใน 3 ให้หายขาดจาก โรคลมชัก ได้

2. ผ่าตัด:

ในกรณีผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อยากันชัก หรือผู้ป่วยมีสาเหตุการชักจากการทำงานของสมองที่ผิดปกติ อาจใช้วิธีการผ่าตัดสมองเข้ามารักษา

3. การกระตุ้นเส้นประสาทเวกัส (Vagus nerve):

เพื่อช่วยยับยั้งการทำงานที่ผิดปกติของสมองที่กระตุ้นให้เกิดการชัก แต่วิธีนี้ยังใช้กันไม่มากเนื่องจากมีเฉพาะในบางสถานพยาบาลเท่านั้น และให้ผลการรักษาไม่ต่างจากวิธีอื่นๆ แต่มีค่าใช้จ่ายสูงกว่า

ผู้ป่วย โรคลมชัก ควรปฏิบัติตนอย่างไร

เนื่องจากโรคนี้อาจแสดงอาการขึ้นเมื่อใดก็ได้ ดังนั้นนอกจากการรับประทานยากันชักอย่างสม่ำเสมอแล้ว ผู้ที่ป่วยเป็น โรคลมชัก ควรหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมที่อาจเป็นอันตรายต่อตนเอง อย่างการว่ายน้ำ ดำน้ำ การทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร หรือทำงานบนที่สูง หรือทำกิจกรรมที่อาจเป็นอันตรายต่อทั้งตนเองและผู้อื่นอย่าง การขับรถ ดังเช่นในกรณีที่เป็นข่าวเมื่อเร็วๆ นี้