คนในปัจจุบันนี้นอกจากจะออกกำลังกาย เพื่อดูแลสุขภาพอย่างจริงจังกันแล้ว การสกรีนอาหารก่อนรับประทานก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญเช่นกัน เพราะอาหารที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย อาจก่อให้เกิดโรคในวันข้างหน้าก็เป็นได้ โดยเฉพาะ โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร ที่ตอนแรกจะไม่แสดงอาการผิดปกติให้เห็น แต่เมื่อโรคเริ่มมีการพัฒนาตัวขึ้น คุณจะเริ่มรู้สึกว่า อาหารไม่ย่อย ไม่สบายตัว ท้องอืด หรือมีอาการแสบร้อนบริเวณหน้าอก เป็นต้น

มะเร็งกระเพาะอาหาร เกิดจากการที่เซลล์เยื่อบุกระเพาะอาหารมีการแบ่งจำนวนมากขึ้นอย่างผิดปกติ ทำให้เกิดเป็นมะเร็งขึ้นมา โดยสามารถเกิดขึ้นได้ทุกส่วนของกระเพาะอาหาร และสามารถกระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ เช่น ตับ ตับอ่อน ลำไส้ ปอด และรังไข่ รวมถึงต่อมน้ำเหลืองได้

 

 

ปัจจัยเสี่ยง

ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งกระเพาะอาหารที่แน่ชัด แต่มีหลายปัจจัยที่พบว่าสามารถเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคได้ ดังนี้

  • เมื่ออายุมากขึ้นจะมีโอกาสเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารมากขึ้น
  • เพศชายมีโอกาสเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารมากกว่าเพศหญิง 2 เท่า
  • มีประวัติครอบครัวเป็นโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร
  • โรคนี้พบในคนเอเชียได้มากกว่าชนชาติผิวขาวกลุ่มประเทศยุโรปและอเมริกา
  • อาหาร โดยเฉพาะอาหารประเภทหมักดอง ตากเค็ม รมควัน อาจเพิ่มความเสี่ยงของโรคมะเร็งกระเพาะอาหารได้มากขึ้น การรับประทานผักและผลไม้สดอาจช่วยลดความเสี่ยงลงได้
  • การติดเชื้อแบคทีเรีย Helicobacter pylori ซึ่งเป็นเชื้อที่สามารถทำให้เกิดการอักเสบและแผลในกระเพาะอาหารได้ และอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งกระเพาะอาหารได้มากขึ้น
  • เคยได้รับการผ่าตัดกระเพาะอาหารหรือมีโรคประจำตัว เช่น โรคโลหิตจางบางชนิด โรคกระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรัง มีโอกาสเป็นโรคมะเร็งกระเพาะอาหารสูงขึ้น
  • อาชีพ โดยเฉพาะอาชีพที่ต้องสัมผัสกับฝุ่นและสารเคมีบางชนิดก่อให้เกิดความเสี่ยงมากขึ้น
  • พฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ค่อยรับประทานผักและผลไม้
  • ภาวะอ้วน ผู้ชายที่มีน้ำหนักมากกว่าเกณฑ์มาตรฐาน มีโอกาสเป็นโรคมะเร็งกระเพาะอาหารมากขึ้น แต่ในเพศหญิงยังไม่มีหลักฐานความสัมพันธ์ระหว่างความอ้วนกับการเกิดโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร
 
อาการของโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร

ในระยะแรกของโรคมะเร็งกระเพาะอาหารอาจไม่มีอาการแสดง แต่เมื่อระยะของโรคมีการพัฒนาขึ้น ก็อาจทำให้มีอาการคล้ายโรคอื่นๆ เช่น โรคแผลในกระเพาะอาหาร โรคไวรัสลงกระเพาะได้ ซึ่งหากมีอาการผิดปกติเหล่านี้ควรรีบปรึกษาแพทย์

  • รู้สึกอาหารไม่ย่อยหรือรู้สึกไม่สบายท้อง
  • ท้องอืดหลังรับประทานอาหาร
  • คลื่นไส้เล็กน้อย
  • ไม่อยากรับประทานอาหาร
  • มีอาการแสบร้อนบริเวณหน้าอก

ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการลุกลามขึ้น อาจมีอาการดังต่อไปนี้

  • รู้สึกไม่สบายท้องโดยเฉพาะช่องท้องบริเวณส่วนบนและตรงกลาง
  • มีเลือดปนในอุจจาระ
  • อาเจียน โดยอาจมีอาเจียนเป็นเลือดได้
  • น้ำหนักตัวลดลง
  • ปวดท้องหรือท้องอืดหลังรับประทานอาหาร
  • อ่อนเพลีย

วิธีดูแลตนเอง

1. ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคนี้ (เช่น มีญาติพี่น้องเป็นโรคนี้ ผู้ที่เป็นโรคกระเพาะอักเสบเรื้อรัง หรือติดเชื้อ เฮลิโคแบกเทอร์ไพโลรี) ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจเช็ก กระเพาะโดยการส่องกล้อง อาจต้องทำการตรวจเช็ก ปีละครั้ง ถ้าพบว่าเริ่มมีความผิดปกติ จะได้รีบหาทางป้องกันและรักษาได้ทัน

2. ผู้ที่มีอาการปวดแสบลิ้นปี่เวลาก่อนกินอาหาร หรือจุกแน่นท้องหลังกินอาหาร

  • ถ้าเพิ่งเป็นครั้งแรก โดยไม่มีอาการผิดปกติอื่นๆ และมีอายุต่ำกว่า 40 ปี ให้กินยาต้านกรด ครั้งละ 15-30 มิลลิลิตร หลังอาหาร 3 มื้อและก่อนนอน ถ้ากินยา 2-3 วันรู้สึกทุเลา ให้กินยาจนครบ 2 สัปดาห์ แต่ถ้าไม่ทุเลาตั้งแต่แรก ควรไปพบแพทย์
  • ในกรณีกินยา 2 สัปดาห์แล้วไม่หายดี ควรไปพบแพทย์ ถ้าหายดี ควรกินยาจนครบ 6-8 สัปดาห์
  • หากกินยาครบ 6-8 สัปดาห์ แล้วต่อมามีอาการกำเริบ ก็ควรไปพบแพทย์ เพื่อตรวจหาสาเหตุเช่นกัน
  • นอกจากนี้ ถ้าผู้ป่วยมีลักษณะข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้ก็ควรรีบไปพบแพทย์  1. มีอายุเกิน 40 ปี แม้จะมีอาการเป็นครั้งแรก และไม่มีอาการผิดปกติอื่นๆ ก็ควรปรึกษาแพทย์ 2. มีอาการปวดรุนแรง ปวดนานเกิน 6 ชั่วโมง กระเทือนถูกเจ็บ อาเจียน ถ่ายอุจจาระดำ ตาเหลือง ตัวเหลือง หรือน้ำหนักลด เพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง ควรไปพบแพทย์โดยเร็ว

 

3. หากตรวจพบว่าเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร ควรปฏิบัติตัวดังนี้

1. ติดตามรักษากับแพทย์อย่างจริงจังและต่อเนื่องตามนัด

2. ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์

3. ควรหาทางเสริมสร้างกำลังใจ ด้วยการยอม รับความจริง ทำใจให้อยู่กับปัจจุบัน หมั่นทำสมาธิ

4. กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ กินผักผลไม้ เมล็ดถั่วเหลือง เต้าหู้ให้มากๆ ควรเป็นอาหารที่ย่อยง่าย ไม่ทำให้ท้องอืดท้องเฟ้อ

5. หมั่นออกกำลังกายเท่าที่ร่างกายจะรับได้เป็นประจำ

การป้องกัน

1. หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรค เช่น งดบุหรี่ เหล้า หลีกเลี่ยงการกินอาหารที่มีรสเค็ม อาหารหมักดอง รมควัน และอาหารใส่ดินประสิวเป็นประจำ

2. กินผักและผลไม้ให้มากๆ ทุกวัน

ที่มา : www.bumrungrad.com / www.doctor.or.th