ใน 1 วัน ขอให้ได้ดื่มกาแฟสักแก้วก็ยังดี แต่บางคนไม่พอแค่นั้น ตื่นเช้ามาดื่มไปแล้ว 1 แก้ว ถึงตอนบ่ายร่างกายมันโหยหาให้ต้องดื่มกาแฟอีกสักแก้ว ตกเย็นหลังมื้ออาหารก็ไม่พลาดที่จะปิดท้ายด้วยกาแฟ พฤติกรรมการดื่มกาแฟเหล่านี้มันมีผลดีผลเสียต่อสุขภาพอย่างไรบ้างหรือเปล่านะ...ใครที่ไม่ได้เป็นคอกาแฟมากนักอาจไม่สนใจเท่าไร แต่สำหรับใครที่มีกาแฟเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน บอกเลยว่าพลาดมากหากจะไม่ติดตามกันต่อ และรู้คำตอบว่า การดื่มกาแฟที่ถูกต้อง ควรทำอย่างไร?

 

ดื่มกาแฟเวลาไหนแล้วดี?

ใครที่คิดว่าดื่มตอนเช้าสิ ร่างกายจะได้สดชื่นกระปรี้กระเปร่า แต่ก็มีหลายคนชอบดื่มตอนเที่ยงหรือตอนบ่าย เพราะเป็นช่วงเวลาที่รู้สึกง่วงนอนอย่างยิ่ง หรืออาจเป็นเวลาไหนก็แล้วแต่ ได้มีนักวิจัยศึกษาและสรุปออกมาว่า ช่วงเวลา 09.30-11.30 น. คือเวลาเหมาะสมที่สุดสำหรับการดื่มกาแฟ เพราะกาเฟอีนจะออกฤทธิ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่มีความสัมพันธ์กับฮอร์โมนชื่อว่า คอร์ติซอล

คอร์ติซอล เป็นฮอร์โมนที่ช่วยให้ร่างกายตื่นตัวและจะเกิดมากขึ้นเมื่อมีความเครียด โดยช่วงเวลาที่ร่างกายจะผลิตฮอร์โมนชนิดนี้มากคือ 08.00-09.00 น. 12.00-13.00 น. และ 17.30-18.30 น. การดื่มกาแฟใน 3 ช่วงเวลานี้จึงไม่มีประโยชน์ เพราะฤทธิ์ของกาแฟจะไปทำงานซ้ำซ้อนกับฮอร์โมนคอร์ติซอลนั่นเอง

ดื่มกาแฟทุกวันดีไหม?

แล้วเราสามารถจะดื่มกาแฟได้ทุกวันไหม...ยังไม่มีการยืนยันว่าดื่มกาแฟทุกวันนั้นไม่ดี จะมีเพียงการกำหนดปริมาณของกาแฟที่ดื่มเข้าไปใน 1 วัน ไม่ควรเกิน 300 มิลลิกรัม อาทิ ดื่มกาแฟสดได้ประมาณ 2 แก้วต่อวัน หรือชงน้ำร้อนกับผงกาแฟสำเร็จรูปประมาณ 3 แก้วต่อวัน ซึ่งจะไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย แต่ถ้าดื่มในปริมาณมากเกินกว่าที่กำหนดทุกๆ วัน ก็อาจส่งผลให้เกิดความผิดปกติขึ้นได้ เช่น ตื่นเต้นตกใจง่าย มือสั่น ใจสั่น ฯลฯ เพราะแต่ละคนมีประสาทสัมผัสที่ไวต่อสารกาเฟอีนในปริมาณมากน้อยแตกต่างกัน

กาแฟร้อน หรือ กาแฟเย็น แบบไหนจะดีกว่ากัน?

เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่ากาแฟดำเป็นกาแฟที่ให้ประโยชน์ต่อร่างกายมากที่สุด ในทางกลับกันคนส่วนใหญ่มักไม่ค่อยชอบรสชาติขมๆ ของกาแฟดำมากนัก จึงมีการปรับเพิ่มรสชาติให้กลมกล่อมหอมหวานมันยิ่งขึ้น ด้วยนมข้นหวาน น้ำตาล หรือครีมเทียม ของพวกนี้แหละที่เป็นอันตรายก่อให้เกิดโรคเรื้อรังได้สารพัด เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคอ้วน โรคหัวใจ ไขมันอุดตันในเส้นเลือด ฯลฯ และมักจะอยู่ในรูปแบบของกาแฟเย็นมากกว่ากาแฟร้อน ไม่ว่าจะเป็นคาปูชิโนเย็น มอคค่าเย็น ลาเต้เย็น เป็นต้น แถมบางสูตรยังใส่วิปครีมเพิ่มอีก ดังนั้น เพื่อไม่ให้สุขภาพร่างกายของเราเสื่อมลงทุกวัน ควรดื่มกาแฟเย็นให้น้อยลงและดื่มกาแฟร้อนให้มากขึ้น เพราะจะช่วยลดปริมาณของน้ำตาลและไขมันที่อาจสะสมในร่างกายได้

 

 

 

 

ข้อควรระวังในการดื่มกาแฟไม่ให้เสียสุขภาพ

- ควรดื่มกาแฟพร้อมอาหาร อาจเป็นขนมปังหรือเค้ก ไม่ควรดื่มกาแฟตอนท้องว่าง เพราะสารกาเฟอีนจะไปเร่งให้มีการสร้างกรดออกมามากจนทำให้เกิดโรคกระเพาะอาหารได้

- หลังดื่มกาแฟแล้วควรดื่มน้ำเปล่าตามไปด้วย หรือดื่มน้ำให้เพียงพอกับความต้องการในแต่ละวัน เพื่อช่วยชดเชยน้ำจากปัสสาวะ เพราะสารกาเฟอีนมีฤทธิ์ในการขับปัสสาวะ คนที่ดื่มกาแฟเป็นประจำจึงมักเข้าห้องน้ำบ่อย

- คนที่ดื่มกาแฟจะมีภาวะเสี่ยงของโรคกระดูกพรุน เนื่องจากกาเฟอีนจะดึงแคลเซียมออกจากร่างกายทางปัสสาวะ จึงควรกินอาหารเสริมแคลเซียมจากแหล่งอื่นร่วมด้วย เช่น นม ปลาเล็กปลาน้อย ผักใบเขียว ฯลฯ

- ถึงเวลาจะเข้านอนแล้วควรเลี่ยงการดื่มกาแฟ นอกจากทำให้นอนหลับยากแล้วยังส่งผลให้ร่างกายพลอยพักผ่อนไม่เพียงพอไปด้วย

- อย่าปล่อยให้กาแฟมามีอิทธิพลในการช่วยกระตุ้นให้ทำงานได้มากขึ้น เพราะจะส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาว ทำให้ร่างกายยิ่งอ่อนแอจนต้องเพิ่มปริมาณของกาแฟมากขึ้นเรื่อยๆ

- หญิงตั้งครรภ์และหลังคลอดบุตรไม่ควรดื่มกาแฟ เพราะกาเฟอีนอาจมีผลกระทบต่อทารกขณะตั้งครรภ์ รวมถึงทำให้น้ำนมจากแม่สู่ลูกไม่บริสุทธิ์ได้

- เด็กๆ ที่มีอายุต่ำกว่า 10 ปีไม่ควรดื่มกาแฟ

- ผู้สูงอายุ ผู้เป็นโรคหัวใจ และผู้ที่มีความเสี่ยงโรคกระดูกพรุน ควรหลีกเลี่ยงการดื่มกาแฟ

- ถ้าแต่ละวันดื่มกาแฟในปริมาณมากแล้ว ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มประเภทอื่นที่มีสารกาเฟอีนอีก เพราะจะไปเพิ่มกาเฟอีนในร่างกายให้มีมากเกินไป

บรรดาคอกาแฟคงรู้สึกดีใจกันมากขึ้นว่า กาแฟจะไม่สามารถทำให้สุขภาพของเราเสียไปได้ หากได้ทราบถึงวิธีการดื่มกาแฟอย่างถูกต้อง ส่วนใครที่คิดว่ากาแฟไม่ดีจนไม่เคยดื่ม จะลองเปลี่ยนใจมาดื่มสักแก้วก็ไม่ว่ากัน

ข้อมูลจาก : http://sukkaphap-d.com