เข้าสู่ปีใหม่ 2559 ซึ่งเป็นปีวอกหรือปีลิง ต่างมีนักพยากรณ์และนักโหราศาสตร์มาแนะนำเรื่องของดวงชะตาตามโหราศาสตร์หลายแขนง เช่น ดวงชะตาตามราศี ดวงชะตาตามปีนักษัตร การแก้ดวงชะตา การเสริมดวงชะตา

ดังนั้น เพื่อสุขภาพที่ดีแล้วในฐานะของอาจารย์ทางด้านโภชนาการและนักกำหนดอาหารวิชาชีพ จึงอยากขอแนะนำ “อาหารเสริมดวงชะตา 2559” เพื่อส่งเสริมสุขภาพและมีโภชนาการที่ดี

มกราคม

หลังจากผ่าน เทศกาลปีใหม่ มา ซึ่งเป็นเทศกาลแห่งการกิน-กิน-และกิน หลายคนจะเริ่มวางเป้าหมายของตัวเองในเดือนมกราคม  (New Year Resolutions) ว่าอยากจะมีสุขภาพที่ดีโดย ลดน้ำหนัก ออกกำลังกาย กินอาหารสุขภาพ ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วจะทำได้เพียงระยะสั้นและก็จะกลับไปมีพฤติกรรมต่างๆเหมือนเดิม ดังนั้นแทนที่จะตั้งเป้าไว้ยากเกินหรือมีหลายอย่างที่ต้องทำ เดือนนี้ลองปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินทีละนิดก่อนเช่น

  • ลดการกินหวาน มัน เค็ม

  • ทุกมื้ออาหารจะต้องมีผักหรือผลไม้สด

  • ชิมอาหารก่อนปรุงทุกครั้ง

  • กินให้ช้าลง

  • เลิกซื้ออาหารมาตุน

  • ดื่มน้ำเปล่าให้มากขึ้น

  • ลดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

แต่ละข้อให้เวลา 1-2 อาทิตย์ แล้วค่อยๆ เพิ่มสิ่งที่ควรทำเข้าไป และอย่าหักโหมจนไม่ไหวและกลับไปมีพฤติกรรมเช่นเดิม

กุมภาพันธ์

เดือนแห่งความรัก “วันวาเลนไทน์” น้อยคนนักที่จะไม่ชอบกินช็อกโกแลตยกเว้นในคนที่แพ้ช็อกโกแลตแต่ก็สามารถเลือกไวท์ช็อกโกแลตซึ่งเป็นช็อกโกแลตชนิดที่ไม่มีผงโกโก้อยู่ ช็อกโกแลตเป็นหนึ่งในขนมหวานที่เป็นที่นิยมอันดับ 1 ของโลกด้วยรสชาติที่หอมหวาน กลมกล่อม เมื่อได้กินจะทำให้รู้สึกถึงความสุข ช็อกโกแลตมีประโยชน์ต่อสุขภาพเพราะมีสารต้านอนุมูลอิสระกลุ่มฟลาโวนอล ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ลดการอักเสบในร่างกาย ลดความเสี่ยงการเกิดโรคอัลไซเมอร์ นอกจากนี้ยังมีแคลเซียม โพแทสเซียม และแมกนีเซียมซึ่งเป็นแร่ธาตุที่ดีต่อร่างกาย และอีกสารคือสารธีโอโบรมีนเป็นสาร ซึ่งมีโครงสร้างคล้ายกับคาเฟอีน มีฤทธิ์เป็นสารกระตุ้นประสาท ช่วยขับปัสสาวะ ผ่อนคลายกล้ามเนื้อเรียบและยังมีคุณสมบัติในการขยายหลอดลม แต่ด้วยรสชาติที่ดีของช็อกโกแลตจึงทำให้คนส่วนใหญ่กินเกิน แทนที่จะส่งผลดีกลับกลายเป็นส่งผลเสียต่อร่างกายเช่น ทำให้อ้วน เกิดสิว

วิธีการกินช็อกโกแลตเพื่อสุขภาพที่ดี

  •   ไม่กินช็อกโกแลต ร่วมกับการกินไอศกรีม เค้ก คุกกี้ เพราะทำให้ได้รับพลังงานที่สูงเกินไป และทำให้อ้วนได้ ควรเลือกกินร่วมกับชาไม่ปรุงรส หรือน้ำสมุนไพรไม่ใส่น้ำตาล

  •   กินช็อกโกแลตช้าๆ ค่อยๆ ให้ละลายในปาก แทนที่จะเคี้ยวและกลืนอย่างรวดเร็ว ช่วยให้ได้รับรสชาติของช็อกโกแลตมากกว่า และจะส่งผลต่อความรู้สึกมีผลให้สมองรับรู้ความสุข

  •  เลือกช็อกโกแลตที่มีเปอร์เซ็นต์ของโกโก้มากที่สุด มีน้ำตาลน้อย คือ ดาร์กช็อกโกแลต ดีกว่าช็อกโกแลตนม หรือไวท์ช็อกโกแลต

  •  เลือกช็อกโกแลตที่มีขนาดชิ้นเล็กๆ ในแต่ละคำแทนที่จะเลือกชิ้นที่มีขนาดใหญ่ ขนาดที่พอเหมาะคือประมาณ (5 กรัม) หรือประมาณหัวแม่มือ

มีนาคม

“กินข้าวไทยยังไงก็ดี” คนส่วนใหญ่กินข้าวกันน้อยลงด้วยเหตุแห่งความเชื่อที่ว่ากินข้าวแล้วจะอ้วนง่าย แต่กลับไปกินอาหารจานด่วนอาหารแปรรูป พวกขนมปัง มันฝรั่งทอด บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เดือนนี้ลองปรับมากินข้าวไทย เช่น ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ ข้าวสินเหล็ก ข้าวไรซ์เบอรี่ ข้าวกล้องงอก ข้าวไทยเหล่านี้มีคุณค่าทางอาหารมากมาย

  • ข้าวที่ผ่านการขัดสีน้อยทำให้อิ่มท้องได้นาน

  • ใยอาหารสูง ช่วยในการขับถ่าย

  • วิตามินบีช่วยเรื่องระบบประสาทและสมอง

  • ช่วยผ่อนคลายความเครียด

  • วิตามินอีที่มีอยู่ในข้าวจะช่วยบำรุงผิวพรรณให้สดใส ลดการเกิดริ้วรอย

เมษายน

เดือนที่มีอากาศร้อนที่สุด และมี เทศกาลสงกรานต์ เป็นเดือนที่มีสถิติของการเกิดโรคระบบทางเดินอาหาร เช่น โรคอุจจาระร่วง โรคอาหารเป็นพิษ บิด โรคอหิวาตกโรคมากที่สุด จากการสอบสวนโรคจากผู้ป่วยโรคระบบทางเดินอาหารพบ 10 เมนูอันตรายที่ควรระมัดระวังในการรับประทาน ได้แก่ ลาบหรือก้อยดิบ เช่น ลาบหมู ก้อยปลาดิบ ยำกุ้งเต้น ยำหอยแครง ข้าวผัดโรยเนื้อปู (โดยเฉพาะอาหารกล่อง และบรรจุห่อ) อาหารหรือขนมที่ราดด้วยกะทิสด ขนมจีน ข้าวมันไก่ ส้มตำ สลัดผัก และน้ำแข็ง

หลักการเลือกอาหารปลอดภัย

  • รับประทานอาหารปรุงสุกใหม่ เพราะอุณหภูมิสูงในการปรุงประกอบ สามารถลดปริมาณของเชื้อโรคที่ปนเปื้อนในอาหาร สำหรับอาหารถุง อาหารกล่อง อาหารบรรจุห่อ ควรแยกกับข้าวออกจากข้าว และรับประทานภายใน 4 ชั่วโมงหลังปรุงสุก

  • อาหารกระป๋อง ต้องดูวันหมดอายุและผ่านการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)

  • อาหารที่เก็บในตู้เย็นอุ่นอาหารด้วยอุณหภูมิความร้อน 70-100 องศาเซลเซียสก่อนรับประทานทุกครั้ง และไม่ควรเก็บไว้เกิน 2 วัน

  • ล้างมือทุกครั้งก่อนการรับประทานอาหารหรือปรุงอาหาร

  • ใช้ช้อนกลางในการตักอาหาร

พฤษภาคม

วันพืชมงคล เดือนนี้ให้ความสำคัญต่อเกษตรกรซึ่งเป็นอาชีพหลักของคนไทยมาแต่ช้านาน หากพระยาโคกินถั่วหรืองา จะพยากรณ์ว่า ผลาหาร ภักษาหารจะอุดมสมบูรณ์ดี ดังนั้นเดือนนี้ลองหันมากินถั่วกันให้มากขึ้น ถั่วแบ่งออกเป็น

  • ถั่วเปลือกแข็งพวก อัลมอนด์ มะม่วงหิมพานต์ วอลนัท ถั่วลิสง

  • ถั่วฝักเมล็ดแข็ง เช่น ถั่วเขียว ถั่วเหลือง ถั่วแดง ถั่วดำ ถั่วขาว

  • ถั่วฝักอ่อนเช่น ถั่วลันเตา ถั่วฝักยาว

ถั่วมีประโยชน์มากมายมีทั้งโปรตีนที่ดี ไขมันที่ดีต่อหัวใจ ใยอาหารสูง สารปกป้องอนุมูลอิสระสูง แต่ควรกินในปริมาณที่เหมาะสม

มิถุนายน

กลางปี ลองฝึกลดหวาน มัน เค็ม

  • ลดหวาน

  • ลดการเติมน้ำตาลเพิ่มในอาหาร

  • ชิมทุกครั้งก่อนเติมน้ำตาลในอาหารและเครื่องดื่ม

  • เลือกกินผักผลไม้สด แทนการกินน้ำผักผลไม้สำเร็จรูปหรือน้ำผักผลไม้สดแบบแยกกาก เพื่อให้ได้ใยอาหารจากผักและผลไม้

  • ลดผลไม้อบแห้ง

  • เลือกดื่มน้ำเปล่าแทนน้ำอัดลม ชา หรือกาแฟ

  • เลือกกินของว่างที่มีน้ำตาลน้อย เช่นผลไม้ไม่หวาน ถั่ว ข้าวโพดนึ่ง แทนขนมหวาน ขนมขบเคี้ยว หรือซีเรียลเคลือบช็อคโกแลต

  • อ่านฉลากโภชนาการ เปรียบเทียบและเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีน้ำตาลน้อย

  • ลดมัน

  • เลือกเมนูต้ม ตุ๋น นึ่ง ลวก อบ ย่าง ยำ น้ำพริก แกงไม่ใส่กะทิ

  • เลือกกินโปรตีนไขมันต่ำ ได้แก่ ปลา เนื้ออกไก่ เนื้อสันใน

  • เลือกใช้น้ำมันในกลุ่มของน้ำมันพืช ที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูง เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันรำข้าว น้ำมันมะกอก น้ำมันถั่วลิสง น้ำมันคาโนล่า

  • เลือกกินถั่วเปลือกแข็งและเมล็ดธัญพืชต่างๆ ที่เป็นแหล่งไขมันที่ดี เป็นอาหารว่าง ปริมาณที่แนะนำวันละ 1 กำมือ

  • กินผักผลไม้สด เพื่อให้ได้ใยอาหารจากผักและผลไม้

  • อ่านฉลากโภชนาการ เพื่อหลีกเลี่ยงอาหารที่มีกรดไขมันอิ่มตัวสูงและกรดไขมันทรานส์

  • ลดเค็ม

  • ชิมทุกครั้งก่อนเติมเครื่องปรุงรสต่างๆ ปรุงทีละน้อย

  • ลดความถี่และปริมาณการเติมเครื่องปรุง เช่น ซอสต่างๆ น้ำปลาพริก น้ำจิ้ม

  • เลือกกินอาหารสด และอาหารที่ปรุงสดใหม่ เติมเกลือ น้ำปลา หรือซอสปรุงรส ให้น้อยที่สุด หรือหากเคยกินเค็มจัดก็ให้ค่อยๆ ลดปริมาณลง เมื่อเริ่มคุ้นชินกับรสชาติใหม่แล้วก็ค่อยๆ ลดลงอีก

  • ใส่เครื่องเทศสมุนไพรในการเพิ่มรสชาติอาหาร เช่น พริก พริกไทย ตะไคร้ มะนาว ขิงข่า มะขามเปียก

  • เมื่อกินอาหารที่ร้าน บอกคนขายว่า ไม่ใส่ผงชูรส

  • ลดการจิ้มพริกเกลือเมื่อกินผลไม้

  • อ่านฉลากโภชนาการ เลือกผลิตภัณฑ์ที่มีโซเดียมน้อย

กรกฎาคม

วันอาสาฬหบูชา วันเข้าพรรษา เริ่มต้นเข้าหน้าฝนอากาศชื้นก็จะตามมาด้วยโรคหวัด ดังนั้นเดือนนี้ควรกินอาหารเพื่อป้องกันโรคหวัดไว้ก่อน โดยวิธีการหนึ่งที่ช่วยในการป้องกันการเกิดโรคหวัดก็คือการกินอาหารตามแบบธาตุเจ้าเรือนของคนไทยในสมัยโบราณ

  • ธาตุดิน (คนเกิดเดือนพฤศจิกายน ธันวาคม มกราคม) รสชาติอาหารที่เหมาะสมกับธาตุเจ้าเรือนคือ อาหารที่มีรสขม ฝาด หวาน มัน เค็ม ผักพื้นบ้านและผลไม้ที่แนะนำให้รับประทาน เช่น ผักหวาน ขนุนอ่อน ผักโขม บวบเหลี่ยม ฟักทอง หน่อไม้ กล้วยดิบ สะตอ มังคุด ฝรั่ง เป็นต้น ตัวอย่างเมนูอาหาร เช่น แกงผักหวานปลาย่าง ยำผักกูด ส้มตำกล้วยดิบ แกงจืดหน่อไม้ สะตอผัดกุ้ง หน่อไม้ฝรั่งผัดน้ำมันหอย เมนูอาหารว่าง เช่น เต้าส่วน กล้วยบวชชี ฟักทองนึ่ง ตะโก้เผือก ส่วนเครื่องดื่ม เช่น น้ำอ้อย น้ำมะพร้าว น้ำตาลสด น้ำมะตูม นมถั่วเหลือง น้ำแคนตาลูป น้ำส้ม น้ำฝรั่ง น้ำลูกเดือย น้ำข้าวโพด น้ำแห้ว น้ำฟักทอง โดยการปรุงอาหารและเครื่องดื่มควรใส่น้ำตาลเพียงเล็กน้อย

  • ธาตุน้ำ (คนเกิดเดือนสิงหาคม กันยายน ตุลาคม) รสชาติอาหารที่เหมาะสมกับธาตุเจ้าเรือนคือ อาหารรสเปรี้ยว เช่น มะนาว ส้ม มะขาม ตะลิงปลิงสับปะรด มะเขือเทศ มะยม มะกอก กระท้อน ผักพื้นบ้านที่แนะนำให้บริโภค เช่น ขี้เหล็ก แคบ้าน ยอดมะขาม มะอึก มะเขือเครือ มะเขือพวง สะเดาบ้าน มะระขี้นก มะระจีน มะแว้ง ใบยอ ตัวอย่างเมนูอาหาร เช่น ต้มยำ แกงขี้เหล็ก แกงส้มดอกแค แกงอ่อม น้ำพริงมะระขี้นก ผัดมะระใส่ไข่ ห่อหมกใบยอ แกงป่า ต้มแซ๊ปยอดมะขาม เมนูอาหารว่าง เช่น มะยมน้ำปลาหวาน สับปะรดหวานเย็น กระท้อนลอยแก้ว เครื่องดื่มน้ำสมุนไพรที่ช่วยบำรุงธาตุ คือ น้ำมะนาว น้ำส้ม น้ำสับปะรด น้ำมะเขือเทศ โดยการปรุงอาหารและเครื่องดื่มควรใส่น้ำตาลเพียงเล็กน้อย

  • ธาตุลม (คนเกิดเดือนพฤษภาคม มิถุนายน กรกฎาคม) รสชาติอาหารที่เหมาะสมกับธาตุเจ้าเรือนคือ อาหารรสเผ็ด ผักพื้นบ้านที่แนะนำ ได้แก่ ขิง ข่า ตะไคร้ กระชาย พริกไทยอ่อน พริกไทย โหระพา กะเพรา ใบแมงลัก ขมิ้นขาว ขมิ้นชัน ผักชีลาว ผักชีล้อม กานพลู ตัวอย่างเมนูอาหารแนะนำ เช่น น้ำพริกปลาย่างกับผักนานาชนิด ต้มข่าไก่ ต้มยำกุ้ง ไก่ผัดใบกระเพราะ ปลาคั่วพริกไทยอ่อนขนมจีนน้ำยาป่า ตัวอย่างอาหารว่าง เช่น บัวลอยน้ำขิง เต้าฮวย เต้าทึง มันต้มขิง ถั่วเขียวต้มขิง เครื่องดื่ม ได้แก่ น้ำขิง น้ำตะไคร้ โดยการปรุงอาหารและเครื่องดื่มควรใส่น้ำตาลเพียงเล็กน้อย

  • ธาตุไฟ (คนเกิดเดือนกุมภาพันธ์ มีนาคม เมษายน) รสชาติอาหารที่เหมาะสมกับธาตุเจ้าเรือนคือ อาหารรสขม เย็น และจืด ผักพื้นบ้านและผลไม้ที่แนะนำ ได้แก่ ผักบุ้ง ตำลึง สายบัว ผักกาด มะระ มะรุม มะเขือยาว กระเจี๊ยบมอญ สะเดา ยอดฟักทอง กุยช่าย ผักบุ้ง บัวบก ขี้เหล็ก แตงโม มันแกว พุทรา แอปเปิ้ล ตัวอย่างเมนูอาหาร เช่น ผัดผักบุ้ง แกงจืดตำลึง ผัดสายบัวกับกุ้ง แกงส้มมะรุม แกงจืดมะระ ขนมกุยช่าย อาหารว่างที่เหมาะจะรับประทาน เช่น ถั่วแดงน้ำแข็งใส ไอศกรีมต่างๆ ส่วนเครื่องดื่ม เช่น น้ำแตงโมปั่น น้ำใบเตย น้ำเก๊กฮวย โดยการปรุงอาหารและเครื่องดื่มควรใส่น้ำตาลเพียงเล็กน้อย

สิงหาคม

วันแม่แห่งชาติ ยิ่งคุณแม่มีลูกมากเท่าไหร่คุณแม่ก็ยิ่งเสี่ยงต่อการเป็นภาวะกระดูกผุกระดูกพรุนมากเท่านั้น เดือนนี้อยากให้ฝึกกินอาหารที่มีแคลเซียมสูง

  • ดื่มนมไขมันต่ำหรือปราศจากไขมันทุกวัน

  • หากแพ้นมลองกินโยเกิร์ตไม่น้ำตาลร่วมกับผลไม้แทน

  • กินผักสีเขียวเข้มเช่น คะน้า ตำลึง กวางตุ้ง

  • กินปลาตัวเล็กตัวน้อย กุ้งแห้ง

  • ถั่วและงา

กันยายน

เดือนแห่งปลายฝนต้นหนาว ร่างกายอาจอ่อนแอและเกิดการไม่สบายได้ง่าย เดือนนี้เพิ่มอาหารที่ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันร่างกายที่มีส่วนประกอบของโปรไบโอติกส์หรือจุลินทรีย์ เช่นนมเปรี้ยว นัตโต มิโสะและเทมเป้ของประเทศญี่ปุ่น โยเกิร์ตและคีเฟอร์ของประเทศแถบยุโรป นมแพะหมักของอินเดีย ชีสสด ซาวเคราท์ซึ่งเป็นกะหล่ำปลีหมักของเยอรมันนี กิมจิของประเทศเกาหลี และข้าวหมากของคนไทย

ตุลาคม

เทศกาลกินเจ ในแต่ละปีมีคนหันมากินเจในช่วงเทศกาลเพิ่มมากขึ้นทุกปี ด้วยเหตุผลคือการเพิ่มบุญบารมีและลดการกินเนื้อสัตว์ ในช่วงนี้ อาหารเจจะทำมาจากแป้งเป็นส่วนประกอบหลัก รองมาคือน้ำมัน เมื่อได้รับในปริมาณมากเกินกว่าร่างกายต้องการก็จะทำให้เกิดการสะสมเป็นไขมันในร่างกาย บางคนในช่วงกินเจนี้ก็กินแต่ผักทำให้ไม่มีแรงและอาจเป็นลมได้

วิธีการเลือกอาหารเจ

  • รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดยเลือกกลุ่มข้าวแป้งที่ไม่ขัดสี กลุ่มโปรตีนจากถั่ว (ถั่วเขียว ถั่วเหลือง ถั่วแดง ถั่วดำ ถั่วขาว) ถั่วเปลือกแข็ง เช่น อัลมอนด์วอลนัท ถั่วลิสง เต้าหู้ โปรตีนเกษตร กลุ่มผักและผลไม้ให้ได้หลากสีสัน (แดง ขาว เขียว ส้ม/เหลือง ม่วง) และกลุ่มสุดท้ายคือกลุ่มของไขมันโดยเลือกไขมันที่ไม่อิ่มตัว เช่น น้ำมันรำข้าว น้ำมันถั่วเหลือง โดยหลีกเลี่ยงไขมันอิ่มตัว เช่น เนยขาว น้ำมัน

  •  เลือกรับประทานอาหารที่มีใยอาหารสูง เช่นในผัก ผลไม้ ธัญพืชธัญชาติ

  • ลดการบริโภคอาหารแปรรูป พยายามเลือกอาหารที่ผ่านการปรุงแต่งน้อยที่สุด

  • ดื่มน้ำให้เพียงพอ โดยเฉพาะเมื่อรับประทานอาหารเจ มักจะมีผักเยอะร่างกายต้องการน้ำในปริมาณที่เพิ่มมากขึ้น หากได้รับน้ำไม่เพียงพออาจทำให้ท้องผูกได้

เลือกรับประทานอาหารว่างที่ดี ในระหว่างที่รับประทานอาหารเจ อาจทำให้มีความรู้สึกหิวได้ง่ายเนื่องจากปริมาณโปรตีนที่ได้อาจไม่เพียงพอทำให้รู้สึกหิวง่าย ดังนั้นอาหารว่างจึงสำคัญเพราะจะช่วยให้หายหิวได้ก่อนมื้ออาหารหลักโดยไม่ทำให้หิวจนตาลาย พอถึงมื้อหลักก็รับประทานจนมากเกินไป ตัวอย่างอาหารว่างที่ดีเช่น ผลไม้สด เมล็ดธัญพืชอบกรอบ เช่น เมล็ดฟักทอง เมล็ดทานตะวัน  นมถั่วเหลืองผสมธัญพืช เต้าฮวยน้ำขิง ขนมปังไม่ขัดสี ข้าวโพดคลุก เป็นต้น

พฤศจิกายน

เดือนนี้ “กินข้าวกินปลา”

  • ปลาทะเลที่เป็นแหล่งของสารอาหารและกรดไขมันที่ดี ได้แก่ปลาทู ปลาแซลมอน ปลาโอ ปลาเทร้า ปลาอินทรีย์ ปลาทูน่า ปลาฮาลิบัท ปลากะพง ปลาดุกทะเล  ปลาคอด สมาคมโรคหัวใจแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา (AHA) แนะนำให้กินปลาและอาหารทะเลอย่างน้อย 2 ครั้งต่อสัปดาห์ ในปริมาณครั้งละ 3-4 ช้อนกินข้าว และควรปรุงประกอบอาหารด้วยวิธีการย่าง อบ หรือต้ม เน้นการเลือกประเภทของปลาให้มีความหลากหลายและมาจากหลายแหล่งที่มา

ธันวาคม

เดือนแห่งการสังสรรค์ เดือนสุดท้ายของปี ฝึกดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ผสมอยู่เช่น เบียร์ ไวน์ และเหล้าต่าง ในปริมาณที่เหมาะสม

ข้อแนะนำในการดื่มแอลกอฮอล์ สำหรับผู้หญิงดื่มได้วันละไม่เกิน 1 ดริ๊งค์ ผู้ชายดื่มได้วันละไม่เกิน 2 ดริ๊งค์ คำว่า 1 ดริ๊งค์ เช่นไวน์ดื่มได้ครึ่งแก้ว หรือถ้าเบียร์ดื่มได้ 1 กระป๋อง หรือเหล้าแดง/เหล้าขาว 1 เป๊ก (45 ซีซี) หรือสุราพื้นเมือง ประมาณ 300 ซีซี และไม่ควรดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในขณะท้องว่างเนื่องจากจะทำให้น้ำตาลในเลือดสูงและต่ำลงเร็ว โดยเร็วซึ่งอาจอันตรายโดยเฉพาะกลุ่มผู้ที่เป็นโรคเบาหวานหรือผู้สูงอายุ

 

ลองปรับเปลี่ยนพฤติกรรรมการกินต่างๆ ในแต่ละเดือน  เพื่อให้มีสุขภาพที่แข็งแรง มีวิธีการกินอาหารที่ถูกต้องขึ้น ทั้งประเภทของอาหารและปริมาณที่เหมาะสม เมื่อทำได้ในแต่เดือนให้ทำอย่างต่อเนื่องไม่ใช่เพียงแต่ในเดือนนั้นๆ และเลิกทำ เมื่อทำต่อเนื่องกันเป็นประจำแล้วก็จะกลายเป็นพฤติกรรมใหม่ติดตัวไป เราต่างอยากมีดวงดี โชคดี ชีวิตดี๊ดี ดังนั้นสุขภาพที่ดีก็เป็นตัวการสำคัญที่จะช่วยเสริมดวงชะตาให้ยิ่งดีขึ้นไป

 

 

ที่มา : โดย ผศ.ดร.ฉัตรภา หัตถโกศล อาจารย์ประจำภาควิชาโภชนวิทยา คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล 

http://www.thaihealth.or.th/

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน ในชุดโครงการ “รวมพลัง ขยับกาย สร้างสังคมไทย ไร้พุง” เครือข่ายคนไทยไร้พุง ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)