ภาวะทุพโภชนาการเป็นภาวะที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยโรคมะเร็ง โดยความรุนแรงขึ้นอยู่กับชนิดและระยะของโรค โดยมีสาเหตุมาจากตัวโรค มะเร็งจะกระตุ้นให้มีการสร้างสารที่ก่อให้เกิดภาวะอักเสบ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของการใช้พลังงานและการเผาผลาญสารอาหารต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะเพิ่มการใช้พลังงาน เพิ่มการสลายโปรตีนจากกล้ามเนื้อ และเพิ่มการสลายไขมัน ทำให้ผู้ที่เป็นโรคมะเร็งรู้สึกเบื่ออาหาร

โรคมะเร็งบางชนิดมีผลให้กลืนอาหารลำบาก อืดแน่นท้อง ร่วมกับผลข้างเคียงจากการรักษาทั้งยาเคมีบำบัดและการผ่าตัด ภาวะทางจิตใจที่ หดหู่ซึมเศร้า ตลอดจนพฤติกรรมและความเชื่อในการเลือกบริโภคอาหาร ที่ไม่ถูกต้อง ยิ่งส่งผลให้ผู้ป่วยมีภาวะทุพโภชนาการที่แย่ลง

การเลือกรับประทานอาหารที่ถูกต้อง ในปริมาณและสัดส่วนที่เหมาะสม จึงมีความสำคัญต่อการช่วยป้องกันไม่ให้เกิดภาวะขาดสารอาหาร อีกทั้งทำให้ผู้ป่วยมีสุขภาพที่แข็งแรง ลดภาวะแทรกซ้อนจากการรักษา เช่น การติดเชื้อหรือแผลผ่าตัดแยก สามารถลดระยะเวลาในการรักษาตัวใน โรงพยาบาล ตลอดจนทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

มีการศึกษาพบว่าการจำกัดอาหารจนทำให้ผู้ป่วยได้รับพลังงานไม่พอนั้น ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะทุพโภชนาการ จึงแนะนำให้ผู้ป่วยรับประทานในปริมาณเท่ากับความต้องการของคนปกติ

สำหรับสารอาหารชนิดต่างๆ ยังคงมีความสำคัญต่อร่างกาย โปรตีน เป็นองค์ประกอบที่สำคัญของร่างกาย ช่วยทำให้ผู้ป่วยแข็งแรง ไม่อ่อนเพลีย และไม่ติดเชื้อง่าย การเติบโตของมะเร็งขึ้นอยู่กับปริมาณของโปรตีนที่บริโภคเข้าไปเพียงบางส่วนเท่านั้น แม้ว่าเราจะจำกัดปริมาณโปรตีน แต่มะเร็งก็ยังเจริญเติบโตได้โดยสลายโปรตีนในร่างกายผู้ป่วยมาใช้ ยิ่งกลับทำให้เกิดผลเสียแก่ผู้ป่วย ทำให้เจ็บป่วยได้ง่าย ไม่มีแรง และไม่สามารถเข้ารับการรักษาทั้งเคมีบำบัดและการฉายแสงได้ตามกำหนด

ผู้ป่วยโรคมะเร็งมีความต้องการโปรตีนสูงกว่าคนปกติ เนื้อสัตว์ ไข่ และนม เป็นแหล่งของโปรตีนที่มีคุณภาพสูง อุดมไปด้วยวิตามินและเกลือ แร่ที่จำเป็นต่อร่างกาย จึงแนะนำให้บริโภคเนื้อสัตว์ที่ไม่ผ่านกระบวนการ ถนอมอาหาร ปรุงสุก และเลี่ยงการประกอบอาหารด้วยการปิ้งย่าง

แม้จะมีข้อมูลว่าการบริโภคเนื้อแดง เช่น เนื้อหมู หรือเนื้อวัว จะเพิ่ม ความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ แต่เนื่องจากมีธาตุเหล็กสูง จึงแนะนำให้บริโภคได้บ้างในกลุ่มผู้ป่วยที่ซีด

ข้าว แป้ง น้ำตาล เป็นหมวดอาหารที่ให้พลังงานหลักและควรบริโภค ให้เพียงพอ การงดหรือลดอาหารหมวดนี้ไม่ได้ช่วยให้โรคมะเร็งดีขึ้น แต่กลับยิ่งทำให้ภาวะทุพโภชนาการรุนแรงขึ้น

ไขมันก็เป็นหมวดอาหารที่ให้พลังงานสูง เป็นแหล่งของวิตามินที่ละลายในไขมันและกรดไขมันจำเป็น ควรรับประทานไขมันในปริมาณ เท่ากับคนทั่วไป แต่ควรหลีกเลี่ยงไขมันอิ่มตัวจำพวกไขมันสัตว์ กะทิ เนย

นม ควรเลือกรับประทานเฉพาะชนิดที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัว ซึ่งพบได้ใน น้ำมันมะกอก น้ำมันรำข้าว และกรดไขมันชนิดโอเมก้า 3 ที่พบได้ในปลาทะเล

ส่วนผักและผลไม้ก็เป็นแหล่งของวิตามิน เกลือแร่ สารต้านอนุมูลอิสระ และกากใยอาหารที่สำคัญ ผู้ป่วยควรรับประทานให้หลากหลายและเพียงพอ สำหรับผู้ป่วยภูมิคุ้มกันต่ำควรรับประทานผักต้มสุก และผลไม้ที่มีเปลือกหนา

ความรู้ทางด้านโภชนาการที่ถูกต้องถือเป็นสิ่งจำเป็นมากในผู้ป่วยโรคมะเร็ง การรับประทานอาหารแบบผิดวิธีตามความเชื่อหรือข้อมูลที่ไม่ ถูกต้องอาจส่งผลร้ายต่อตัวผู้ป่วย ตัวโรคมะเร็ง การวางแผนการรักษา และคุณภาพชีวิต ดังนั้นควรศึกษาให้ดี ควรปรึกษาแพทย์ พยาบาล นักกำหนดอาหาร หรือบุคลากรทางการแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนจะเลือกปฏิบัติ

 

 

ที่มา : www.thairath.co.th  โดย นายแพทย์กุลพงษ์ ชัยนาม คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี

http://www.thaihealth.or.th/