
คนที่เป็นพ่อแม่หลายๆ คน คงตระหนักถึงข้อเท็จจริงที่ว่าการมีลูกเป็นความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่ เริ่มตั้งแต่การดูแลในช่วงตั้งครรภ์ ช่วงการคลอด
การเลี้ยงลูกในวัยทารกจนกระทั่งเข้าสู่วัยเรียน ซึ่งเด็กในแต่ละวัยก็จะมีปัญหาพฤติกรรมที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการเรียน ดื้อ ซน โดยพ่อแม่หลายคนมักเข้าใจว่าเด็กที่ซุกซนมากเป็นเด็กฉลาด แต่นั่นอาจเป็นพฤติกรรมที่ลูกท่านแสดงออกจากการเป็นโรคสมาธิสั้น
โรคสมาธิสั้น หรือ ADHD (Attention Deficit/Hyperactive Disorder)เป็นกลุ่มอาการที่เกิดขึ้นตั้งแต่วัยเด็ก (ก่อนอายุ 7 ขวบ) จากความผิดปกติของสารเคมีบางอย่างในสมอง ซึ่งมีผลกระทบต่อทั้งอารมณ์ ความคิดและพฤติกรรมของเด็ก ทำให้เกิดปัญหาด้านการเรียน รวมทั้งพัฒนาการทางอารมณ์และสังคมตามมา โดยโรคนี้ประกอบด้วย 3 กลุ่มอาการ ได้แก่ อาการขาดสมาธิ (Attention Deficit) อาการซน (Hyperactivity) และอาการหุนหันพลันแล่น (Impulsivity)
เด็กบางคนอาจจะมีอาการซน อยู่ไม่และอาการวู่วาม หุนหันพลันแล่นเป็นหลัก ซึ่งพบได้บ่อยในเด็กผู้ชาย ในขณะที่เด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นบางคนอาจจะไม่ซน แต่มีอาการของการขาดสมาธิเป็นหลัก ซึ่งพบได้ทั้งในเด็กผู้หญิงและผู้ชาย
โรคสมาธิสั้นจะพิจารณาจากประวัติและอาการของเด็กเท่านั้น ไม่มีการตรวจทางห้องปฏิบัติการหรือการทดสอบใดๆ มาใช้เป็นหลักในการวินิจฉัย (นอกจากใช้เพื่อการวินิจฉัยแยกโรคอื่นๆ) ดังนั้นประวัติโดยละเอียดจากพ่อแม่และข้อมูลจากทางโรงเรียน รวมทั้งผลการเรียนของเด็กจึงเป็นสิ่งที่สำคัญต่อการวินิจฉัยอย่างมาก อาการที่บ่งชี้ว่าเด็กอาจมีโรคสมาธิสั้น ได้แก่
1.อาการขาดสมาธิ
เด็กจะมีลักษณะวอกแวกง่าย ขาดสมาธิและความตั้งใจในการทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานที่ต้องใช้ความคิดหรือความตั้งใจมาก เด็กมักจะแสดงอาการคล้ายเหม่อลอยอยู่บ่อยๆ ฝันกลางวัน ทำงานไม่เสร็จ ผลการทำงานมักจะไม่เรียบร้อย ขาดความรอบคอบ ตกๆ หล่นๆ และดูเหมือนสะเพร่า นอกจากนี้ยังมีลักษณะขี้ลืม ทำของใช้ส่วนตัวหายเป็นประจำ มีลักษณะเหมือนไม่ฟังเวลาเราพูดด้วย เวลาสั่งงานก็มักจะลืมทำหรือทำนิ่ง ครึ่งๆ กลางๆ ซึ่งอาการขาดสมาธินี้มักจะมีต่อเนื่องและติดตัวจนกระทั่งเป็นผู้ใหญ่
2.อาการซนและหุนหันพลันแล่น
เด็กจะมีลักษณะซน อยู่ไม่นิ่ง ยุกยิกตลอดเวลา นั่งนิ่งๆ ไม่ค่อยได้ ต้องลุกเดินหรือขยับตัวไปมา ชอบวิ่งหรือปีนป่าย เล่นเสียงดังและผาดโผน หรือทำกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการบาดเจ็บและอันตราย ทำให้มักประสบอุบัติเหตุบ่อยๆ เด็กมักจะพูดมาก หรือ พูดไม่หยุด ชอบแกล้งหรือแหย่เด็กคนอื่น นอกจากนี้ยังพบลักษณะวู่วามใจร้อน อารมณ์หุนหันพลันแล่น ทำอะไรไม่คิดถึงผลที่จะเกิดตามมา ทำของเสียหายบ่อยๆ รอคอยอะไรไม่ได้ มักชอบพูดขัดจังหวะหรือพูดแทรกเวลาผู้อื่นคุยกัน หรือแย่งเพื่อนเล่นของเล่น
ข้อมูลจาก น.พ.ธิติพันธ์ ธานีรัตน์ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยวิชาการ โรงพยาบาลสวนสราญรมย์ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข / ข่าวสารกรมสุขภาพจิต
ที่มา: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง โดย น.พ.สุรพงศ์ อำพันวงษ์
http://www.thaihealth.or.th/