หลายคนเคยได้ยินข่าวการเสียชีวิต จาก “การนอนละเมอ” จนพลัดตกตึกลงมาแบบไม่รู้ตัว ซึ่งนั่นเป็นข้อกังขาที่หลายคนสงสัยว่า หลับลึกมากแค่ไหน ถึงไม่รู้สึกตัวขณะนั้น หากหลับลึกแล้วทำไมละเมอลุกขึ้นจากที่นอนได้ แท่นที่จะนอนนิ่งๆ ใช่หรือไม่

 

เพราะในความเข้าใจของคนทั่วไป ก็จะรับรู้ว่า “หลับลึกมาก ปลุกไม่เห็นจะตื่น” ซึ่งถ้าเข้าใช่เช่นนี้ การหลับลึกๆ แล้วจะลุกขึ้นมาเดินละเมอได้อย่างไร

มาไขข้อสงสัยกับคำตอบจาก รศ.นพ.วิชญ์ บรรณหิรัญ ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา แผนกหู คอ จมูก รพ.ศิริราช บอกว่าปัญหาการนอนหลับมีทั้ง 'นอนกัดฟัน' ทำลายสุขภาพ ปัญหาช่องปาก-โรคเครียด (http://www.dailynews.co.th/article/377769) นอนไม่หลับ นอนกรน หยุดหายใจขณะหลับ ฝันร้าย และนอกจากนี้ ยังรวมถึงการ “นอนละเมอ” ซึ่งเป็นปัญหาอย่างหนึ่ง เกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย และหากปล่อยไว้นานไป บางครั้งจะก่อความรุนแรงเกิดอันตรายได้ ขณะที่กำลังนอนหลับ จะไม่มีความรู้ตัวเลยว่าละเมอ เพราะร่างกายส่วนอื่นๆ ถูกกระตุ้นให้เคลื่อนไหว ทั้งๆที่ยังหลับอยู่ สามารถยืน เดิน หรือพูดได้ แต่เมื่อตื่นขึ้นมามักจะจดจำอะไรไม่ได้ นั้นคืออาการของคน “นอนละเมอ”

สาเหตุหรือปัจจัยกระตุ้น ของการนอนละเมอ เริ่มตั้งแต่การพักผ่อนน้อย หยุดกินยาบางชนิด ความเครียดสะสม ฤทธิ์ของสุรา ซึ่งจะพบในผู้ใหญ่ อาการละเมอบางชนิด จะพบในวัยเด็กเล็กมากกว่าวัยผู้ใหญ่ เพราะสมองเด็กยังพัฒนาไม่เต็มที่ โดยอาจเกี่ยวข้องกับ “พันธุกรรม”                                                                              

ละเมอแบบหลับเงียบ พบบ่อยในเด็กอายุราว 6 ขวบขึ้นไป และมักพบในช่วงครึ่งคืนแรกของการนอน หรือหลังจากหลับไปแล้ว 3-4 ชม. เนื่องจากร่างกายจะอยู่ในระยะหลับลึกมากกว่า

ส่วนการละเมออีกชนิดคือ ละเมอแบบหลับฝัน จะเกิดขึ้นบ่อยกว่า ในช่วงใกล้รุ่งเช้า ซึ่งมีการนอนระยะหลับฝัน หรือ เร็วมากขึ้น โดยพบบ่อยในผู้สูงอายุ

การละเมอเดิน อาจเกิดได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ เช่น เดินไปรอบห้อง หรือเดินไปข้างนอกห้องหรือนอกบ้าน เปิดประตูหน้าต่างเอง ซึ่งหากเป็นถึงขั้นนั้น ถือว่าอันตราย เนื่องจากเสี่ยงต่ออุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้นตามมา

อันตรายและภัยที่ไม่คาดคิดจากความไม่รู้ตัว เพราะนอนละเมอ บางครั้งอาจสร้างความเสียหายหรือทำให้ผู้อื่นได้รับผลกระทบตามมา เคยมีรายงานถึงขั้นว่า ละเมอไปมีเพศสัมพันธ์ ทำร้ายร่างกาย หรือฆาตกรรม

ปัญหาการนอนละเมอ หากเกิดขึ้นบ่อยมาก หรือ รุนแรง เช่น เกิน 2-3 วัน/สัปดาห์ ต่อเนื่องกันเป็นระยะนานกว่า 1 เดือน ถือว่าผิดปกติ และสิ่งที่คนทั่วไปยังเข้าใจแบบไม่ถูกต้อง คิดว่าการนอนละเมอทุกครั้ง เป็นเรื่องปกติไม่ใช่โรค แต่จริงๆแล้ว อาจเป็นกลุ่มอาการของโรคการนอนหลับ อย่างหนึ่ง หรือ ต้องวินิจฉัยแยกออกให้ได้จากโรคลมชักบางประเภท หรือ แม้กระทั่งปัญหาที่เกี่ยวกับทางจิตเวชอีกด้วย อย่างไรก็ตามการนอนละเมอ ประเภทต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้วนั้น สามารถรักษาและบำบัดได้

ยาบางตัวสามารถรักษาอาการนอนละเมอได้ ซึ่งต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์ แต่การป้องกันไว้ก่อน โดยล็อกประตู หน้าต่าง ก่อนเข้านอน ลดความเสี่ยงที่จะละเมอทำให้เกิดอุบัติเหตุ และหลีกเลี่ยงปัจจัยที่เป็นตัวกระตุ้น งดสุรา นอนให้ตรงเวลา ออกกำลังกาย ไม่กินอาหารก่อนนอน แต่หากยังไม่ดีขึ้น แนะนำให้ไปพบแพทย์ เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงแก้ไขที่ถูกต้อง

รู้เช่นนี้แล้ว...เมื่อเห็นคนใกล้ตัว เกิดอาการละเมอ คล้ายๆ ที่คุณหมออธิบายให้ฟังมานี้ ต่อไปอย่าคิดเองว่าเป็นเรื่องปกติ เพราะการนอนละเมอ อาจเกิดอันตรายกับตัวเองหรือคนรอบข้างได้

แต่ถึงแม้ว่า คนทั่วไปจะไม่ได้มีอาการนอนละเมอหรือไม่รุนแรงขนาดนี้ ก็ควรดูแลสุขอนามัยการนอนให้ดีด้วย

 

 

ที่มา : www.dailynews.co.th โดย ทวีลาภ บวกทอง

http://www.thaihealth.or.th/