
เรื่องที่ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) ยังเป็นข่าวอยู่อย่างต่อเนื่อง หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องหลายๆ หน่วยงานเริ่มวางแผนงานและยุทธศาสตร์เพื่อจะดูแลผู้สูงอายุให้เหมาะสมต่อไปในอนาคต
ตามความจริงแล้วการดูแลผู้สูงอายุควรจะเริ่มตั้งแต่วัยรุ่นที่จะต้องใส่ใจ และเข้าใจผู้สูงวัยที่อยู่ในครอบครัวเดียวกัน ก็คือรุ่นหลาน ส่วนรุ่นลูก นอกจากจะเป็นหน้าที่พลเมืองดีที่จะต้องตอบแทนบุญคุณ วางแผน ดูแลผู้สูงวัยแล้ว ยังจะต้องเตรียมตัวเองที่จะล่วงเลยไปเป็นผู้สูงวัยในอนาคตอย่างทรงคุณค่า งามสง่า ทั้งร่างกาย จิตใจ และสมอง ไม่ควรจะมีโรคไม่ติดเชื้อ (Non Communicating DeseaesNCD) เช่น โรคของความเสื่อม โรคความดันโลหิตสูง โรคของหลอดเลือด โรคของกระดูกและข้อ โรคของหัวใจ ความเสื่อมถอยของสมองและความจำ เป็นต้น
ในสื่อรูปแบบต่าง ๆ จากสถาบันอาหาร หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับอาหาร นักโภชนากร ที่มีชื่อเสียงทั้งในประเทศและต่างประเทศพูดตรงกัน ว่า อาหารคือปัจจัยสำคัญที่สุดของชีวิต อาหารที่มีประโยชน์และมีคุณค่าต่อร่างกาย (จริง ๆ แล้วก็คือ มีประโยชน์ต่อเซลล์เล็ก ๆ ของทุก ๆ อวัยวะ) มีคำกล่าวเป็นภาษาอังกฤษว่า You are what you eat คำกล่าวนี้เป็นคำกล่าวทางวิชา การ ซึ่งง่ายต่อการเข้าใจและตรงกับความเป็นจริงอย่างยิ่งว่า "ท่านกินอย่างไรท่านก็จะได้รับผลตามนั้น"
ทุกคนมีความรู้ชัดเจนว่า ถ้าทานอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวมากและบ่อยก็มักจะมีระดับไขมันในเลือดสูง ทำให้มีแนวโน้มเป็นโรคของหลอดโลหิตตีบและแข็ง โรคไขมันเกาะตับ และโรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น และเป็นที่เข้าใจง่ายว่าทานอาหารที่ปนเปื้อน ยาฆ่าแมลง สารปนเปื้อนอื่น ๆ เช่น สีย้อม ยากันบูด ฯลฯ มลพิษหรือเชื้อโรคก็จะเกิดโรคต่าง ๆ ตามลักษณะของมลพิษและเชื้อโรคนั้น ๆ
ส่วนเรื่องอาหารมีคำกล่าวถึงอาหารบำรุงอยู่ทั่วไป แต่เมื่อใดและเมื่ออายุเท่าไรควรจะกินอาหารอย่างไรจึงจะเหมาะสมนั้นเป็นเรื่องยากที่จะเข้าใจ บ้างก็งดเนื้อสัตว์เสียโดยสิ้นเชิงที่เรียกว่าอาหารมังสวิรัติ บ้างก็นิยมเนื้อสัตว์ ทานสเต๊กชิ้นใหญ่ ๆ อยู่เป็นประจำ บ้างก็เลือกรับประทานอาหารจานด่วน (Fast food) เพราะมีความจำเป็นเรื่องการบริหารเวลา และความจำเป็นในการใช้ชีวิตที่รีบเร่ง เหล่านี้จึงยังเป็นปัญหาอยู่ และเป็นปัญหาโดยตรงที่จะบั่นทอนสุขภาพเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ ก็คือล่วงเลยเกิน 60 ปีไปแล้ว
มีนักวิชาการจากสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล แนะนำว่า การรับประทานแกงเลียง แกงส้ม แกงเหลือง แกงป่าและน้ำต้มยำแบบไทย เช่น ต้มยำกุ้ง มีคุณค่าทางอาหารและมีฤทธิ์ต่อต้านเซลล์มะเร็งในระดับห้องปฏิบัติการ นักวิชาการอื่นหลายท่านแนะนำให้ทานผักผลไม้ 7 สี ประกอบด้วย สีเหลืองของฟักทอง สีชมพูของสตรอเบอรี่ สีม่วงของบีทรูท สีเขียวซึ่ง พบได้อยู่มากมาย สีน้ำตาลหรือสีดำจากองุ่นดำ สีส้มจากแครอท สีแดงจากมะเขือเทศ เหล่านี้ล้วนมีสารออกฤทธิ์ที่มีคุณค่าและมีประโยชน์ ต่อร่างกายในการต้านอนุมูลอิสระ ช่วยลด การอักเสบภายในร่างกายและดูเหมือนว่าจะสามารถช่วยชะลอวัย
อาจารย์ประคองศิริ บุญคง ที่ปรึกษากองพัฒนายาไทยและยาสมุนไพร กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ให้คำแนะนำสำหรับผู้สูงวัยว่า คนไทยส่วนใหญ่กินข้าว ปัจจุบันข้าวมีหลายสายพันธุ์ ซึ่งต่างก็อ้างสรรพคุณว่า มีสารต้านอนุมูลอิสระ แร่ธาตุ ไวตามินต่าง ๆ และทุกคนก็ทานข้าวด้วยความเชื่อในสรรพคุณนั้น ความจริงแล้วยังต้องคำนึงถึงวัย สภาวะของร่างกายและสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ เพื่อให้ข้าวมีคุณสมบัติตามที่คาดหมาย จึงควรจะได้เลือกสรรข้าวเพื่อให้เหมาะสมกับวัยและสภาวะ และเติมสมุนไพรเพื่อให้เติมเต็มในสิ่งที่ข้าวไม่สามารถให้ได้หมด
ข้าวกล้องงอก เป็นข้าวสำหรับผู้สูงอายุซึ่งเป็นวัยเริ่มเสื่อมถอย ตาฝ้าฟาง โรคที่เป็น คือ เบาหวาน ความดันไขมันสูง และสมองเริ่มเสื่อมโทรม ส่วนใหญ่จะระวังอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาล จึงต้องใช้ข้าวกล้องงอก Oryza sativa L. มีสารกาบาสูง มีผลช่วยลดความดันโลหิต ลด LDL ลดอาการอัลไซเมอร์ ลดน้ำหนัก ทำให้ผิวพรรณดี ตลอดจนใช้บำบัดโรคเกี่ยวกับระบบประสาทส่วนกลางได้ มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ ดูดซึมน้ำตาลน้อยเพราะมีกากใยขัดขวางอีกทั้งดูดซับไขมันไม่ให้สะสม จึงน่าจะเป็นข้าวที่เหมาะสมจัดหาให้ผู้สูงอายุไว้รับประทาน
อาจารย์ประคองศิริ บุญคง ยังแนะนำอีกว่า สมุนไพรใกล้ตัวหลาย ๆ อย่างล้วนมีประโยชน์กับผู้สูงวัย เช่น บัวบก ขมิ้นชัน ฟักข้าว พริก มะเขือเทศ ถั่วอินคา และได้ให้ความรู้เชิงลึกไว้ในบางอย่างบางตัวดังนี้
สมุนไพรบัวบก Centella Asiatica (L.) Urban เหมาะกับทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อโรคความจำเสื่อม เช่น ผู้สูงอายุ สตรีวัยทอง หรือผู้ที่อยู่ในวัยทำงานที่ ต้องใช้สมองมาก ผู้ที่มีความเครียดสูงจากการทำงาน ใบบัวบกมีสารไกลโคโซด์ หลายชนิดที่ให้ผลต้านการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่น ซึ่ง ส่งผลให้การลดความเสื่อมของเซลล์อวัยวะต่าง ๆของร่างกายได้ บัวบกจะช่วยบำรุงสมอง ทั้งช่วยซ่อมแซมสมองส่วนที่ถูกทำลายไปแล้วและช่วยป้องกันไม่ให้สมองส่วนที่ยังปกติดีอยู่นั้นถูกทำลายลงแถมยังช่วยให้ความทรงจำมีประสิทธิภาพมากขึ้น และช่วยลดความเครียดได้ด้วย ช่วยเพิ่มความสามารถในการทำงานและยังช่วยควบคุมระดับแรงดันโลหิตให้เป็นปกติ
ฟักข้าว Momordica cochinchinensis (Lour.) Spreng ฟักข้าวมีผลสีส้มแดงเมื่อสุกเนื้อของฟักข้าวเป็นสีส้มอ่อน ซึ่งมีเบต้าแคโรทีนสูง เยื่อหุ้มเมล็ดสีแดงจัดซึ่งมีสารไลโคปีนสูงมากกว่ามะเขือเทศประมาณ 70 เท่า และมีกรดไขมันประมาณ 22% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกรดไขมันที่จำเป็นต่อร่างกาย เช่น กรดโอเลอิก และกรดไลโนเลอิก เบต้าแคโรทีนเป็นสารในกลุ่มคาโรตินอยด์ ที่เปลี่ยนเป็น ไวตามินเอในร่างกาย ไลโคปีนมีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระได้ดีกว่าสารในกลุ่มเดียวกันเนื่องจากการเรียงตัวของโมเลกุลที่เปิดทำให้สามารถจับออกซิเจนได้ แต่ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อโมเลกุลและเซลล์ในร่างกาย ไลโคปีน ได้รับการพิสูจน์จากวงการแพทย์ว่า มีผลลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งปอด และมะเร็งกระเพาะอาหาร
ถั่วอินคา Plukenetia volubilis L น้ำมันดาวอินคา มีโอเมก้า 3 สูงถึง 45-63% ซึ่งเป็นกรดไขมันจำเป็นที่ต้องได้รับจากอาหารเท่านั้น ร่างกายไม่สามารถสร้างขึ้นเองได้ โดยกรดไขมันโอเมก้า 3 ช่วยป้องกันการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง และโรค ข้ออักเสบ นอกจากนี้ยังประกอบด้วยไอโอดีน วิตามินเอ และวิตามินอี ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันเซลล์จากการทำลายของสารอนุมูลอิสระ ยับยั้งการเกาะกลุ่มของเกล็ด เลือด ช่วยในการลดระดับคอเลสเตอรอล และยังช่วยต้าน ช่วยลด ความเสี่ยงของโรคหัวใจ ช่วยลดระดับไตรกลีเซอไรด์และความดันโลหิต
ข้อมูลจาก อาจารย์ประคองศิริ บุญคง ที่ปรึกษากองพัฒนายาไทยและยาสมุนไพร กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ โดย นายแพทย์สุรพงศ์ อำพันวงษ์
http://www.thaihealth.or.th/