ที่มา : เว็บไซต์เดลินิวส์

http://www.thaihealth.or.th/

 

'คนกินเส้น'ระวังสารกันบูด อากาศร้อน"ขนมจีน"เสียไว เมื่อได้รับในปริมาณน้อย ร่างกายสามารถขับออกให้หมดไปได้ แต่หากได้รับในปริมาณที่สูง จนสะสมจนถึงระดับที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อร่างกาย อาเจียน ท้องเสีย การทำงานของตับไต ลดลงอาจพิการ

ใครที่เข้าครัวบ่อยๆ จะรู้ดี ยิ่งอากาศร้อนอาหารที่ทำในแต่ละมื้อ ก็มีโอกาสเน่าเสียได้ง่าย แล้วยิ่งเป็นอาหารประเภทเส้นๆ อย่าง “ขนมจีน” หากปล่อยข้างคืนไม่เก็บใส่ตู้เย็น กลิ่นบูดไม่ต้องพูดถึง แต่เหม็นตุ ๆ โชยมาแต่ไกลแน่ ๆ เพราะแป้งขนมจีนผ่านการหมักมาแล้ว ก่อนจะมาเป็นเส้นเส้นสีขาวนวลสวยน่ารับประทาน แต่ส่วนใหญ่เวลานึกอยากจะกินขนมจีนขึ้นมา เดี๋ยวนี้มีใครบ้างที่จะมานั่งบรรจงบีบเส้นขนมจีน เวลาก็ไม่ได้มีเยอะขนาดนั้น ต้องพึ่งขนมจีนตลาด เพราะหาง่าย สะดวก อิ่มท้อง ราคาสบาย ๆ กระเป๋า อิ่มแบบไม่ยุ่งยาก อย่างที่บอกไป ช่วงนี้อากาศค่อนข้างร้อน อาหารเน่าเสียง่าย พ่อค้าแม่ค้าบางรายที่ผลิตเส้นขนมจีน และเส้นก๋วยเตี๋ยว ก็เลือกใช้วัตถุกันเสีย หรือที่เรียกว่า “สารกันบูด” ซึ่งที่นิยมมากสุด คือ “กรดเบนโซอิก”

“นพ.อภิชัย มงคล” อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ บอกว่า ตามกฎกระทรวงสาธารณสุข อนุญาตให้ใช้ “กรดเบนโซอิก” ในอาหารไม่เกิน 1,000 มก./กก ซึ่งคนไทยนิยมบริโภคอาหารประเภทเส้นรองจากข้าว ซึ่งอาหารเส้นที่ได้รับความนิยมสูงได้แก่ขนมจีน และก๋วยเตี๋ยว แต่ประเทศไทยมีอากาศร้อน ทำให้อาหารมีโอกาสเน่าเสียได้ง่าย ข้อมูลล่าสุด เมื่อ 8 มี.ค.ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขได้สุ่มตรวจเส้นขนมจีน 12 ยี่ห้อ จากแหล่งจำหน่ายตามท้องตลาด พบว่า “ทุกยี่ห้อ” มีการใช้วัตถุกันเสีย โดยมี 2ยี่ห้อ ที่มีปริมาณวัตถุกันเสียเกินข้อกำหนด

หลายคนอาจยังไม่รู้ว่า “กรดเบนโซอิก” นิยมใช้เป็นวัตถุกันเสียในอุตสาหกรรมอาหารหลายชนิด ทั้งเครื่องดื่ม น้ำผลไม้ อาหารหมักดอง รวมถึงใช้รักษาคุณภาพเครื่องสำอาง ยาสีฟัน และยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ เมื่อได้รับในปริมาณน้อย ร่างกายสามารถขับออกให้หมดไปได้ แต่หากได้รับในปริมาณที่สูง จนสะสมจนถึงระดับที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อร่างกาย อาจทำให้อาเจียน ท้องเสีย หรือการทำงานของตับและไตลดลงอาจพิการได้ ในแต่ละวันร่างกายไม่ควรรับปริมาณสารกันบูดเกินกว่า 5 มก./น้ำหนักตัว 1 กก. นั่นคือ หากมีน้ำหนักตัว 45 กก. ไม่ควรได้รับสารกันบูดเกิน 225 มก./วัน ซึ่งคิดรวมจากอาหารทุกชนิดที่กินเข้าไปในหนึ่งวัน และจากการทดลอง

หากได้รับสูงถึง 500 มก/น้ำหนักตัว 1 กก. อาจทำให้เสียชีวิตได้ “ไม่ควรบริโภคอาหารชนิดเดียวซ้ำ ๆ และบริโภคในปริมาณที่มาก โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อนนี้ ผู้บริโภคควรเลือกรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ ไม่ควรซื้ออาหารมาค้างไว้นาน ๆ หากมีความจำเป็นต้องเก็บอาหารนั้น ควรเก็บไว้ในตู้เย็นและนำมาอุ่นก่อนรับประทาน”

ในสมัยนี้ “ขนมจีน” ถูกจัดเป็นอาหารในภาชนะบรรจุ ซึ่งต้องแสดงฉลากตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ระบุชื่ออาหาร เลขสารบบอาหาร ชื่อและที่ตั้งผู้ผลิต ปริมาณสุทธิ ส่วนประกอบสําคัญ วัน-เดือน-ปี ที่ควรบริโภคก่อน และหากมีการใช้วัตถุเจือปนอาหาร โดยเฉพาะวัตถุกันเสีย จะต้องแจ้งไว้บนฉลากอย่างชัดเจน หากไม่ติดฉลากหรือฉลากไม่ครบถ้วน มีโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท และการใช้วัตถุเจือปนอาหารเกินปริมาณที่กำหนด จะถูกจัดเป็นอาหารไม่ได้มาตรฐาน มีโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท

แล้วจะกินอย่างไรให้ปลอดภัย เพราะขนมจีน ก็มีทั้งคนชอบกิน ไม่ชอบกิน คำแนะนำสั้นๆ ง่ายๆ “กินได้แต่อย่ากินซ้ำ ๆ ยิ่งช่วงฤดูร้อนนี้ ควรเลือกอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ ไม่ควรซื้ออาหารมาค้างไว้นานๆ หากมีความจำเป็นต้องเก็บอาหารนั้น ควรเก็บไว้ในตู้เย็น และนำมาอุ่นก่อนจะดีที่สุด”