ที่มา : www.dailynews.co.th

http://www.thaihealth.or.th/

โดย ชญานิษฐ คงเดชศักดา

 

สังคมปัจจุบันผู้คนเร่งรีบ แข่งขัน จึงทำงานกันอย่างขะมักเขม้นชนิดที่ไม่ลืมหูลืมตา จนบางครั้งอาจหลงหยิบอาหารเข้าปากแบบไม่ทัน “อ่านฉลาก” วันดีคืนดีจึงพบว่า “หมดอายุ” ไปแล้ว หรือบางคนกินเพราะเห็นว่าหน้าตาอาหารยังดูดี ไม่มีทีท่าว่าจะ “บูดเสีย”

แต่ใครจะรู้บ้างว่า “อาหารหมดอายุ” จริงๆ แล้ว “กินต่อได้ไหม...หรือทิ้งไปดีกว่า” ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับคำจำกัดความของ “อาหารหมดอายุ” กันก่อน โดย ดร.ทิพย์วรรณ ปริญญาศิริ ผู้อำนวยการสำนักอาหาร สำนักคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข อธิบายว่า ตามประกาศฉบับที่ 367การแสดงฉลากของอาหารในภาชนะบรรจุ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ “หมดอายุ” หมายถึง วันที่ซึ่งแสดงการสิ้นสุดของคุณภาพของอาหารภายใต้เงื่อนไขการเก็บรักษาที่ระบุไว้ และหลังจากวันที่ระบุไว้ อาหารนั้นวางจําหน่ายไม่ได้ และ “ควรบริโภคก่อน” หมายถึงวันที่ซึ่งแสดงการสิ้นสุดของช่วงเวลาที่อาหารนั้นยังคงคุณภาพดี ภายใต้เงื่อนไขการเก็บรักษาที่ระบุไว้ และหลังจากวันที่ระบุไว้ อาหารนั้นวางจําหน่ายไม่ได้

สำหรับอาหารที่บังคับใช้คำว่า “ควรบริโภคก่อน” โดยทั่วไปตามประกาศเป็นอาหารพร้อมบริโภค เช่น ขนม เครื่องดื่ม ซึ่งคำนิยาม คืออาหารที่สามารถทานต่อได้ในระยะหนึ่งหลังจากถึงวันที่ระบุแล้ว ไม่เป็นอันตราย แต่มีรสชาติที่ผิดเพี้ยนไป รวมทั้งคุณค่าทางโภชนาการลดน้อยลง ดังนั้นขึ้นอยู่กับผู้บริโภคที่ต้องพิจารณาด้วยตัวเองว่าควรจะเก็บไว้อีกนานเท่าใด ส่วนคำว่า “หมดอายุ” เป็นประกาศเฉพาะอาหารที่บังคับใช้ ได้แก่ อาหารประเภทนมดัดแปลงสำหรับทารก ซึ่งคำนิยาม คือหลังจากวันที่ระบุแล้วห้ามรับประทาน เพราะอาจเป็นอันตราย

ย่างไรก็ตามหากพบอาหารทั้ง 2 กลุ่มนี้วางขายอยู่บนชั้นวางทั้งๆ ที่เลยวันที่ระบุบนฉลากมาแล้วถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย มีโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท

ทั้งนี้จากกระแสที่ว่า “อาหารหมดอายุแล้วยังกินต่อได้” เป็นคำพูดสั้นๆ ที่เผยแพร่ทั้งทางสื่อโทรทัศน์และสื่อออนไลน์ หรือกระแสข่าวต่างประเทศเปิดร้านขายอาหารหมดอายุเพื่อลดปริมาณอาหารขยะนั้น บางครั้งอาจส่งผลให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดคิดว่าการรับประทานอาหารหมดอายุไม่เป็นอันตราย ดังนั้นอย่าเพิ่งปักใจเชื่อ ควรศึกษาหรืออ่านคำขยายความให้จบเสียก่อน

โดย อาจารย์สง่า ดามาพงษ์ ที่ปรึกษาสำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ไขปัญหา “อาหารหมดอายุ” ว่าอาหารที่ถูกเก็บอยู่ในบรรจุภัณฑ์ที่เป็นสูญญากาศ เช่น นม และอาหารกระป๋องต่างๆ การเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ ซึ่งเป็นตัวการทำให้อาหารบูดเน่าไม่ค่อยเกิด เราจึงเห็นว่าหารประเภทนี้มีวันหมดอายุที่ยาวนาน1-2 ปี แต่ถ้าหมดอายุแล้วมักมีคำถามตามว่า “สามารถกินต่อได้หรือไม่” ซึ่งจุดสำคัญ คือเราไม่รับประกันว่ากล่องนม หรือกระป๋องที่เก็บไว้นานๆ นั้นจะโดนแสงแดด ความร้อน หรือถูกกระแทกจนแตกหรือไม่ เพราะหากมีรอยแตกจะทำให้เชื้อจุลินทรีย์เข้าไปได้ นอกจากนี้ยังมีเรื่องของรสชาติ กลิ่นของอาหารที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงคุณค่าทางโภชนาการที่ลดน้อยลง จึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมต้องมีการกำหนดวันที่ “ควรบริโภคก่อน”

ส่วนอาหารประเภท “ขนมปัง” เป็นอีกกลุ่มที่ผู้บริโภคสงสัยกันมากว่า “หากหมดอายุแล้วสามารถรับประทานต่อได้หรือไม่” ตรงนี้ต้องดูว่าการเก็บรักษาดีหรือไม่ หากเก็บในอุณภูมิห้องอยู่ได้นาน 2-5 วัน และเก็บในตู้เย็นจะอยู่ได้นานประมาณ 2 สัปดาห์ แต่ขึ้นอยู่กับปริมาณการใส่สารกันบูดของขนมปังชนิดนั้นด้วย บางคนคิดว่าถึงแม้จะหมดอายุไปแล้ว 1-2 วัน แต่สภาพยังดูดีอยู่ เพราะ “เชื้อราเป็นสิ่งที่เรามองไม่เห็น” จึงหยวนๆ รับประทานไป ซึ่งเราอาจไม่เป็นอะไรเลย แต่ถ้าปฏิบัติแบบนี้บ่อยๆ พวก “เชื้อรา” ทั้งหลายที่มันเข้าไปสะสมในร่างกาย อาจจะเกิดผลในระยะยาวได้ จึงไม่ควรเสี่ยงกินและตัดใจทิ้งไปเสียดีกว่า

ต่อมา “ไข่ไก่” ถ้าซื้อมาแล้วสามารถเก็บได้ 2 ที่ คืออุณหภูมิห้องเก็บได้นาน 1-2 สัปดาห์ และในตู้เย็นเก็บได้นาน 3-5 สัปดาห์ หากเกินจากนี้ไข่ไก่จะไม่บูดเหมือนอาหารกระป๋อง และสามารถนำมาปรุงอาหารรับประทานได้ แต่จะไม่สดไม่หอม ไม่อร่อย และคุณค่าทางโภชนาการลดน้อยลง ดังนั้นไม่ควรซื้อมาตุนไว้เยอะๆ และกลุ่มสุดท้าย “ซีเรียล” เป็นธัญพืช มีคาร์โบไฮเดรตคล้ายกลุ่มขนมปัง เวลาเปิดกล่องรับประทานแล้วต้องมั่นใจว่าสามารถทานหมดภายใน 1-2 สัปดาห์ เพราะเมื่อเปิดกล่องแล้วเชื้อจุลินทรีย์จะเข้าไปทำให้เกิดเชื้อรา และมีรสชาติเปลี่ยน รวมทั้งมีกลิ่นหืน

ดังนั้นในมุมมองของนักโภชนาการไม่แนะนำให้รับประทาน “อาหารที่หมดอายุ” แล้ว แต่จะแนะนำให้แก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วย 3 วิธีคือ 1.ก่อนซื้ออาหารทุกครั้งต้องอ่านฉลาก “วันหมดอายุ” หรือฉลาก “ควรบริโภคก่อน” 2.วางแผนการซื้ออาหารในปริมาณที่เราสามารถบริโภคหมดก่อนวันที่ฉลากกำหนด เช่น ซื้อตุนไว้แค่ 1-2 สัปดาห์ และ 3.พยายามนำอาหารที่ซื้อเก็บไว้มาตรวจเช็คฉลากว่าใกล้หมดอายุหรือยัง หากใกล้หมดแล้วควรรีบนำมาปรุงรับประทานก่อนที่จะหมดอายุ ถ้าเราปฏิบัติได้ตามนี้จะเป็นการ “ไม่เพิ่มขยะอาหาร” และ “ปลอดภัยต่อสุขภาพ” นั่นเอง