ที่มา : เว็บไซต์กระทรวงสาธารณะสุข

http://www.thaihealth.or.th/

 

โรคนี้ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่การตรวจพบในระยะเริ่มต้นจะช่วยชะลอความเสื่อมของสมองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้ป่วยสามารถช่วยเหลือตนเองและใช้ชีวิตได้ตามปกติ โดยปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคดังกล่าวคือ อายุที่เพิ่มขึ้น พันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม โรคนี้ทำให้ความสามารถในการจำและการใช้เหตุผลของผู้ป่วยลดลง หากผู้สูงอายุมีอาการหลงลืม

 

 

จากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติคาดการณ์ว่าในปี 2563 จะมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 16.8 ของประชากรไทย ส่งผลให้คนกลุ่มนี้เกิดโรคต่างๆ ตามความเสื่อมของร่างกาย โดยเฉพาะโรคทางระบบประสาท

เนื่องจากสมองของคนเราเป็นอวัยวะสำคัญในการควบคุมการทำงานด้านความจำ ความรู้สึกนึกคิด อารมณ์และพฤติกรรม ดังนั้นเมื่ออายุเพิ่มขึ้นอาจส่งผลให้สมองมีความผิดปกติเกิดขึ้นได้ โดยโรคที่เกี่ยวข้องกับสมองและระบบประสาทที่พบบ่อยและเป็นสาเหตุของความพิการและเสียชีวิตในผู้สูงอายุ คือ โรคหลอดเลือดสมองตีบตันหรือแตก

นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า วิวัฒนาการด้านการแพทย์ที่ก้าวหน้าส่งผลให้คนไทยมีอายุยืนขึ้น แต่ความเสื่อมตามอายุก็ยังคงดำเนินไป ทั้งนี้สาเหตุโรคหลอดเลือดสมองตีบตันหรือแตกนั้น เกิดจากหลอดเลือดแดงที่ไปหล่อเลี้ยงสมองตีบตัน ทำให้เนื้อสมองขาดเลือดไปหล่อเลี้ยงส่งผลให้เนื้อสมองตาย หรือหลอดเลือดแดงสมองแตก เลือดที่ออกมาไปกดทับหรือทำลายเนื้อสมอง ทำให้เกิดความพิการทางกายตามมา ซึ่งจะมีอาการเกิดขึ้นเฉียบพลัน ได้แก่ แขนขาอ่อนแรงหรือชาครึ่งซีกด้านหนึ่งด้านใดของร่างกาย พูดไม่ชัด พูดลำบาก พูดไม่ได้ ปวดหัวรุนแรง สูญเสียความรู้สึกตัว เช่น ซึมลง หมดสติ ซึ่งหากผู้สูงอายุมีอาการดังกล่าว บุตรหลานต้องรีบพาไปโรงพยาบาลทันทีไม่เกิน 3 ชั่วโมง เพราะถ้าหากไปโรงพยาบาลล่าช้าอาจเกิดความพิการถาวร

คุณหมอระบุว่า ปัจจุบันยังพบกลุ่มผู้สูงอายุป่วยเป็นโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์มากขึ้น ซึ่งโรคนี้ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่การตรวจพบในระยะเริ่มต้นจะช่วยชะลอความเสื่อมของสมองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้ป่วยสามารถช่วยเหลือตนเองและใช้ชีวิตได้ตามปกติ โดยปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคดังกล่าวคือ อายุที่เพิ่มขึ้น พันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม

โรคนี้ทำให้ความสามารถในการจำและการใช้เหตุผลของผู้ป่วยลดลง หากผู้สูงอายุมีอาการหลงลืม เช่น จำเหตุการณ์หรือคำพูดที่เพิ่งผ่านมาไม่ได้ สับสนเรื่องต่างๆ มีปัญหาการพูด พฤติกรรมที่อาจเกิดปัญหายุ่งยาก เช่น ออกนอกบ้าน กลับบ้านไม่ถูก ก้าวร้าว ไม่สามารถปฏิบัติกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ ควรรีบพาไปพบประสาทแพทย์หรือแพทย์เวชศาสตร์ผู้สูงอายุ

นอกจากนี้ การฝึกบริหารสมองเป็นประจำจะลดโอกาสเสี่ยงของการเกิดโรค จึงควรหากิจกรรมฝึกความจำให้แก่ผู้สูงอายุให้ได้ใช้สมองในการทำกิจกรรม เช่น การฝึกถามตอบความรู้ทั่วไป เล่นดนตรีไทย วาดภาพ คิดเลข จะช่วยชะลอความเสื่อมของสมองได้ ทั้งนี้โรคที่เกี่ยวข้องกับสมองและระบบประสาทที่สามารถพบได้บ่อย ได้แก่ โรคลมชัก การนอนหลับผิดปกติ เป็นต้น ซึ่งโรคเหล่านี้มีปัจจัยจากความเสื่อมของร่างกายตามอายุที่มากขึ้น ดังนั้นสิ่งสำคัญคือการดูแลเอาใจใส่ผู้สูงอายุอย่างใกล้ชิด หากมีความผิดปกติให้รีบพาไปพบแพทย์ทันที

อธิบดีกรมการแพทย์กล่าวเพิ่มเติมว่า ควรให้ผู้สูงอายุรับประทานอาหารให้ครบหมู่ เน้นผลไม้หลากสี เช่น องุ่น บีท รูท มะม่วงสุก แครอต แตงโม กีวี แอปเปิล หมั่นออกกำลังกาย นอนหลับให้เพียงพอ ไม่เครียด มีกิจกรรมนันทนาการ

ในครอบครัว หากผู้สูงอายุเป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์