ที่มา : กระทรวงสาธารณสุข

http://www.thaihealth.or.th/

การสอนเพศวิถีศึกษา ซึ่งก่อนหน้านี้ เรียกว่า "เพศศึกษา" เริ่มต้นในไทย เมื่อปี2521 และถูกบรรจุไว้ในหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการทั้งในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา โดยกระทรวงศึกษาธิการ  มีนโยบายส่งเสริมให้พัฒนาหลักสูตร และ การจัดการเรียนการสอนเพศวิถี ทั้งในและ นอกโรงเรียนมาอย่างต่อเนื่อง

 

 

ขณะที่ปัจจุบัน ประเทศไทยในแต่ละปีจะมีวัยรุ่นอายุ 15-19 ปี ตั้งครรภ์จนคลอดบุตร ประมาณ 120,000 รายต่อปี หรือประมาณวันละ 300 คน ในจำนวนนี้ จะมีแม่วัยใสที่มีอายุน้อยกว่า 15 ปี อีกประมาณ 3,000 คนต่อปี

อัตรการเกิดนี้จะเป็นผลกระทบสำคัญต่อเด็กในอนาคต และเป็นข้อกังวลต่ออันตรายกับสุขภาพ เช่นการติดเชื้อเอชไอวี เกี่ยวโยงไปยังการก่อปัญหาสังคมอื่นๆ ตามมา ทั้งยังเป็นประเด็นหนึ่งของเพศวิถีที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งมีส่วนหนึ่งในสังคมที่ยังไม่ความเข้าใจ

กระทรวงศึกษาธิการ มหาวิทยาลัยมหิดล และองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ(ยูนิเซฟ) ได้นำเสนอผลการวิจัยเพื่อหาแนวทางเชิงนโยบายและมาตรการสนับสนุน การทบทวนการเรียนการสอน เพศวิถีศึกษาในสถานศึกษา ขยาย ผลจากงานวิจัยจำนวนมากที่พบว่า การสอนเพศวิถีศึกษาอย่างรอบด้าน ส่งผลให้เยาวชนมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย ชะลอการมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก และหากมีก็จะเป็นไปอย่างมีความรับผิดชอบมากขึ้น

โดยก่อนหน้านี้องค์การยูนิเซฟได้ลงพื้นที่ 6 จังหวัด 6 ภูมิภาค เพื่อทำการสำรวจ มีโรงเรียนเข้าร่วมโครงการ  398 แห่ง มีนักเรียน 8,837 คน และมีครูเข้าร่วมในการสำรวจ 692 คน จากการสัมภาษณ์และกิจกรรมอภิปรายกลุ่ม ทั้งสายสามัญและสายอาชีวศึกษา รวมกัน 398 แห่ง จากทุกภาคของประเทศไทย โดยมีนักเรียนและครูเข้าร่วมในการสำรวจถึง 9,529 คน

Mr.Thomas Davin ผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ระบุว่าการพัฒนาหลักสูตร และกระบวนการเรียนรู้ จะต้องมุ่งเน้นให้ผู้เรียน ครู ผู้ปกครองมีความสุข ผู้เรียนได้รับการพัฒนาครอบคลุมทั้ง 4  ด้าน ได้แก่ Head Heart Hand  และ Health ให้ได้รับการพัฒนาทักษะและมีพัฒนาการที่เหมาะสมตามวัย สอดคล้อง กับบริบทสังคมในปัจจุบัน รู้จักกระบวนการ คิดวิเคราะห์ ใช้เหตุและผลในการตัดสินใจ โดยเฉพาะความจำเป็นต่อภูมิต้านทานให้กับเด็กในยุคโลกไร้พรมแดน ให้นักเรียนคิดเป็น นำไปปฏิบัติได้ และรู้จักแก้ปัญหา

"อันตรายจากโรคที่เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ป้องกัน เป็นเรื่องที่ไม่ควร มองข้าม แต่เราก็ควรสะดวกใจที่จะโอบไหล่ หอมแก้ม หรือกอด จูบ กับบุคคลที่เรารักอย่างเอื้ออาทร เพื่อแสดงความห่วงใย"

ทั้งนี้ ผลการวิจัยในครั้งนี้ มีข้อค้นพบ ที่สำคัญ 9 ประการ ประกอบด้วย

1.สถานศึกษาระดับมัธยมศึกษาเกือบทั้งหมด ทั้งสามัญและสายอาชีวศึกษา มีการจัดการเรียนการสอเพศวิถีศึกษา ทั้งในรูปแบบของการบรรจุเพศวิถีศึกษาเป็นสาระการเรียนรู้สำคัญในวิชาอื่น และการจัดให้เป็นวิชาแยกหรือมีการจัดการสอนทั้ง 2 รูปแบบ

2.หัวข้อการสอนมีความหลากหลาย แต่ประเด็นการป้องกันการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และเอดส์สรีระและพัฒนาการทางเพศ ได้รับการเน้นย้ำมากที่สุด  ในขณะที่เรื่องเพศภาวะ สิทธิทางเพศ ความหลากหลายทางเพศและความรุนแรง มีการสอนน้อยกว่า

3.สถานศึกษาหลายแห่งสอนเกี่ยวกับเพศวิถี จากมุมมองที่เป็นผลกระทบด้านลบของเพศสัมพันธ์ โดยมีการสอนมุมมองด้านบวกน้อยมาก 4.มีโรงเรียนเพียงส่วนน้อยเท่านั้น ที่ใช้วิธีสอนในรูปแบบกิจกรรมเป็นหลัก ส่งผลให้นักเรียนส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับการพัฒนาทักษะคิด วิเคราะห์ และตั้งคำถามอย่างเพียงพอ  และยังทำให้ขาดความรู้ ความเข้าใจ และการนำความรู้ไปใช้ได้จริง

5.มีครูเพศวิถีศึกษาในสายสามัญครึ่งหนึ่งและครูสายอาชีวศึกษามากกว่าครึ่ง ที่ระบุว่า  ไม่ได้รับการอบรมการสอนเพศวิถีศึกษา ซึ่งครูที่ได้รับการอบรมมีแนวโน้มที่จะสอนครอบคลุมหัวข้อต่างๆ มากกว่า และมีการสอนแบบใช้กิจกรรมมากกว่าครูที่ไม่ได้รับการอบรม

6.นักเรียนจำนวนมาก มีทัศนคติที่ไม่สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศและสิทธิทางเพศ และในภาพรวม นักเรียนครึ่งหนึ่งคิดว่า ความรุนแรงในครอบครัวเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ในบางกรณี 7.ครูมีทัศนคติที่สนับสนุนความ เท่าเทียมทางเพศและปฏิเสธการใช้ความรุนแรงมากกว่านักเรียน แต่ส่วนใหญ่ยังคิดว่า การมีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงานของนักเรียน เป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้

8.ผู้อำนวยการโรงเรียนและผู้ปกครองนักเรียนส่วนใหญ่เห็นความสำคัญว่า ควรมีการสอนเพศวิถีศึกษา แต่ผู้ปกครองบางคนยังลังเลว่า การสอนอาจเป็นการกระตุ้นให้นักเรียนไปมีเพศสัมพันธ์ และผู้อำนวยการหลายคนเลือกใช้ทรัพยากรในการเรียนการสอนไปกับประเด็นอื่นๆ ที่คิดว่าสำคัญมากกว่าเพศวิถีศึกษา

9.นักเรียนคิดว่า ตนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการคุมกำเนิด และการมีประจำเดือนเป็นอย่างดี แต่มีนักเรียนเพียงส่วนน้อยเท่านั้น ที่สามารถตอบคำถามแบบปรนัย เกี่ยวกับการมีประจำเดือนได้อย่างถูกต้อง และการใช้ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินเป็นวิธีคุมกำเนิดหลัก ที่นักเรียนหญิงหลายคนได้กล่าวถึงนั้น ชี้ให้เห็นว่า นักเรียนเหล่านี้อาจจะยังขาดทักษาการคุมกำเนิดและการต่อรองที่จำเป็นในชีวิตทางเพศของตน

รวมไปถึงข้อค้นพบสุดท้าย ก็คือ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีนโยบายชัดเจนเกี่ยวกับบทบาทของสถานศึกษา ในการจัดการเรียนการสอนเพศวิถีศึกษา แต่สถานศึกษายังต้องการการสนับสนุนเชิงกลไกในการขับเคลื่อนกระบวนการจัดการเรียนการสอนเพศวิถีศึกษา โดยระดมทรัพยากรต่างๆ เพื่อให้จัดการเรียนการสอนอย่างเป็นระบบ มีการติดตาม ประเมินผลอย่างต่อเนื่อง

โดยผลการทบทวนการจัดการเรียน "เพศวิถี" ในครั้งนี้ จะนำเสนอต่อรัฐบาลเพื่อบรรจุเนื้อหาเข้าเป็นส่วนหนึ่งของ พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.2559 เพื่อให้วัยรุ่นได้เรียนรู้เพศวิถีอย่างเหมาะสมกับแต่ละช่วงวัย มีทักษะชีวิตที่จะปฏิเสธ ป้องกัน เลือกปฏิบัติตนให้รอดพ้นการตั้งครรภ์ที่จะส่งผลกระทบ ทั้งต่อตนเอง ครอบครัว และสังคม จนนำมาซึ่งคุณภาพของประชากรประเทศ ด้วยกลไกใหม่ภายใต้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ นั่นคือ คณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ทำงานแก้ปัญหาบนพื้นฐานสิทธิของวัยรุ่น

ผู้ใหญ่ต้องเปิดโอกาสให้'เด็ก'

นายสุภัทร จำปาทอง รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วทางสังคม วัฒนธรรม เทคโนโลยี การสื่อสาร จึงเป็นสถานการณ์ ที่พวกเราทุกคนไม่ว่าผู้ใหญ่ เด็กและเยาวชนต้องช่วยกันเปิดโอกาส และขยายพื้นที่การเรียนรู้ต่างๆ ทั้งในและนอกสถานศึกษา ทั้งด้านวิชาการ วิชาชีพ ได้มีการผสมผสานกับวิชาชีวิต เช่นเรื่องเพศวิถีศึกษา เป็นต้น

แต่โดยสรุปผลการศึกษาวิจัยก็ยังไม่ใช่คำตอบ แต่ความร่วมกันนำข้อมูลเหล่านี้  สนับสนุน ขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษาเด็กและเยาวชน นำความเจริญต่อประเทศชาติ และสุดท้าย เยาวชน จะเป็นผู้ที่ได้รับประโยชน์ที่เกิดขึ้นในอนาคตต่อไป

ต้องรูปแบบปรับการให้ความรู้

พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต ชี้ว่าการก้าวข้ามใน เรื่องนี้ ค่อนข้างยาก เพราะความสำเร็จที่ได้จากเด็กที่ได้รับความรู้นั้นยังไม่เพียงพอ เรื่องเพศวิถี ต้องการ "พื้นที่การเรียนรู้" ทำให้วิธีการ แนวทาง การเรียนการสอนแบบทางเดียวที่ใช้ กันอยู่ ไม่สอดคล้องกับ วิธีคิด วิเคราะห์ของเด็กในวัยต่างๆ จนไม่เกิดพื้นที่การเรียนรู้ได้ เพราะวัยรุ่น เป็นช่วงอายุของการค้นหาตัวตน ความคิด จึงมีความเป็นอิสระ จนกรอบความคิดของผู้ใหญ่ที่ต้องการมอบให้ด้วยความหวังดีนั้น ถูกปฏิเสธอย่างสิ้นเชิง สุดท้ายความกังวลที่เกิดขึ้นกับผู้ปกครองนั้น จะจัดการอย่างไรที่จะไม่ทำให้กลายเป็นอุปสรรค ขัดขวางการเรียนรู้

นายศีลธรรม ชัยมงคล ครูพิเศษสอน วิทยาลัยอาชีวศึกษาลำปาง ในฐานะตัวแทนครูอาชีวศึกษา บอกถึงประสบการณ์ว่า  การสอนเรื่องเพศวิถี ในระดับ ปวช. ปวส. นั้นไม่ควรเกิดขึ้น เพราะ ครู อาจารย์ ควรใช้วิธีฟังให้มากและมากกว่าพูด อย่าคิดนำ ตัวเองเป็นหลัก ไม่ควรอวดอ้างประสบการณ์ในทำนอง "ผู้ใหญ่อาบน้ำร้อนมาก่อน"มาใช้ เพราะนั่นกับฟันธงตัวเองไปแล้วว่า  ครูคนนั้นจะไม่ได้รับข่าวสารใดๆ จากพวกเขาอีกเลย นั่นทำให้เราไม่สามารถ แนะนำ  ให้คำปรึกษากับพวกเขาในทางที่เหมาะสมได้