ที่มา : เว็บไซต์สถาบันราชานุกูล เรี่องโดย พญ.อาภาภรณ์ พึ่งยอด

http://www.thaihealth.or.th/

 

พี่น้อง หมายถึง บุคคลหลายคนที่เกิดจากบิดาและมารดาคนเดียวกัน (พี่น้องร่วมบิดามารดา) หรือเกิดจากบิดาหรือมารดาเดียวกันฝ่ายใดอย่างหนึ่ง (พี่น้องร่วมบิดา, พี่น้องร่วมมารดา) หมายความรวมถึงพี่สาว น้องสาว พี่ชาย และน้องชาย

 

ความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้อง

พี่น้องมีความสัมพันธ์ระหว่างกันได้หลายรูปแบบ ทั้งความสัมพันธ์ที่ดี เช่น การให้ความช่วยเหลือ แบ่งปัน เป็นเพื่อนเล่นกัน เป็นที่พักพิงทางใจ เป็นที่ปรึกษา เนื่องจากพี่น้องสามารถเข้าใจปัญหาของกันและกันได้ดี มีการสื่อสารระหว่างกันที่มีประสิทธิภาพ ช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับพี่น้องของตนได้ และบางครั้งก็เป็นเพื่อนพูดคุยในบางประเด็นที่อาจจะคุยกับใครไม่ได้ เช่น เรื่องเพศ เป็นต้น

นอกจากความสัมพันธ์ที่ดีแล้ว พี่น้องอาจมีรูปแบบความสัมพันธ์ที่ไม่ดีเกิดขึ้นได้ เช่น การทะเลาะเบาะแว้ง การต่อสู้กัน หรือเกิดความอิจฉาริษยากันได้ (Sibling Rivalry)

ปัจจัยที่ส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้อง ได้แก่

- วิธีเลี้ยงดูของพ่อแม่

- ลำดับการเกิด

- บุคลิกภาพของเด็กแต่ละคน

- สิ่งแวดล้อมภายนอกครอบครัว

พี่น้องอิจฉากัน

หมายถึง ความอิจฉาริษยา การแข่งขัน การต่อสู้แย่งชิงระหว่างพี่น้อง มักมีความรุนแรงในพี่น้องที่มีอายุใกล้เคียงกันและเพศเดียวกัน

ปัญหาพี่น้องอิจฉากันนี้พบได้ตั้งแต่ก่อนน้องเกิดหรือหลังจากน้องเกิดไม่นาน เมื่อเกิดขึ้นแล้วมักคงอยู่ตลอดช่วงวัยเด็ก บางครั้งอาจคงอยู่จนถึงวัยผู้ใหญ่ มีการศึกษาพบว่า 1 ใน 3 ของผู้ใหญ่มีปัญหาอิจฉากันระหว่างพี่น้อง แต่ส่วนใหญ่ความสัมพันธ์จะดีขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป

ลักษณะที่แสดงออก

ปัญหาพี่น้องอิจฉากันสามารถแสดงออกได้หลายรูปแบบ ในกรณีที่ไม่รุนแรงมักมีลักษณะไม่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไม่แบ่งปัน ไม่มองด้านดีของพี่น้อง ไม่มีมิตรภาพที่ดีต่อกัน ในรายที่มีความอิจฉากันรุนแรงจะมีลักษณะแข่งขันกันอย่างมากเพื่อแย่งความสนใจจากพ่อแม่ อาจรุนแรงถึงขั้นมีพฤติกรรมรุนแรง ต่อสู้ ทำร้ายร่างกายเกิดขึ้น

ในเด็กบางคนอาจแสดงออกมาเป็นปัญหาทางอารมณ์และพฤติกรรม เช่น มีพฤติกรรมถดถอย ทำพฤติกรรมเลียนแบบเด็กเล็ก ๆ มีพฤติกรรมต่อต้าน ร้องอาละวาด วิตกกังวล มีปัญหาการนอน เป็นต้น

สาเหตุ

ปัญหาพี่น้องอิจฉากันมีสาเหตุจากการแก่งแย่งแข่งขันเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ได้แก่ เวลา ความรัก ความสนใจ และการยอมรับจากพ่อและแม่ นอกจากนี้ยังเกิดจากปัจจัยจากเด็กและพ่อแม่ด้วย

ปัจจัยจากตัวเด็ก

- บุคลิกภาพ พื้นอารมณ์ เช่น เป็นเด็กเลี้ยงยาก แยกตัว

- มีความสัมพันธ์ไม่ดีกับผู้อื่น ไม่ทราบวิธีสร้างความสัมพันธ์ที่ดี

- ตำแหน่งในครอบครัว

- ความแตกต่างด้านอายุ, เพศ

- เด็กที่มีความต้องการพิเศษ เช่น พัฒนาการล่าช้า ป่วย พิการ

ปัจจัยจากพ่อแม่

- ไม่มีเวลา ขาดการดูแลเอาใจใส่ลูก

- มีทัศนคติที่ยอมรับความรุนแรงได้

- ไม่เป็นต้นแบบที่ดีแก่ลูก แสดงความรุนแรงให้ลูกเห็น

- ปัญหาในครอบครัว ทะเลาะกันให้ลูกเห็น

- พ่อแม่มีความเครียด วิตกกังวล ซึ่งส่งผลต่อการดูแลลูก

เลี้ยงลูกอย่างไรไม่ให้อิจฉากัน

• เตรียมพี่ให้มีความรู้สึกที่ดีในการจะมีน้อง

– ชี้ให้พี่เห็นความน่ารักของเด็กเล็ก ๆ

– ระหว่างแม่ท้องควรบอกเด็กว่าแม่กำลังจะมีน้องให้เขาแล้ว

– พูดให้เห็นประโยชน์ของการมีน้อง

• ไม่เอาน้องมาขู่เด็กให้ประพฤติดี อย่าทำให้มีมีทัศนคติที่ไม่ดีกับน้อง

- “จะรักน้องมากกว่า ถ้าพี่ทำตัวไม่ดี”

- “ถ้าดื้อมากจะไม่มีใครรัก จะเป็นหมาหัวเน่า เขาจะรักน้องกันหมด”

• หลังคลอดควรให้เด็กมีความรู้สึกเป็นเจ้าของน้องด้วย

– ให้มาเยี่ยมแม่และน้อง

– ให้พี่มีโอกาสช่วยดูแลน้องบ้าง

• ให้บทบาทกับพี่ : รู้สึกถึงความสำคัญของตนเอง

– ภูมิใจในความเป็นพี่

– ให้คำชมเชยกับพี่ที่ช่วยดูแลน้อง

• ให้ความสนใจเอาใจใส่พี่เท่าเดิม

– ให้ความสนใจกับพี่ควบคู่กับการให้ความสนใจน้อง

– ไม่ควรทุ่มเทเวลาเอาใจใส่แต่น้องคนเดียว

• ไม่พูดเปรียบเทียบคนหนึ่งกับอีกคนหนึ่ง

• อย่าเน้นปมเด่นลูกคนใดคนหนึ่งเป็นพิเศษ

• พ่อแม่ต้องมีความรักเด็กเท่ากันอย่างจริงใจ