ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ โดย พญ.นภาพรรณ วิริยะอุตสาหกุล

http://www.thaihealth.or.th/

 

อากาศร้อนสลับฝน ในเดือนพฤษภาคม มิถุนายน อย่างนี้ก็ถึงเวลาที่ทุเรียนหลากหลายสายพันธุ์จะออกสู่ท้องตลาด ซึ่งในปีนี้เห็นว่าราคาค่อนข้างแพง แต่สาวกของ "ราชาผลไม้" ก็ไม่หวั่น แม้จะกินไป บ่นไป

ทั้งนี้ เพื่อให้ฟินกับความหวานละมุน โดยไม่เป็นภัยต่อสุขภาพ พญ.นภาพรรณ วิริยะอุตสาหกุล ผอ.สำนักโภชนาการ กรมอนามัย ได้บอกข้อมูลโภชนาการของทุเรียนหลากสายพันธุ์ ให้ทราบว่า เจ้าทุเรียนถือเป็นผลไม้ที่อุดมไปด้วยสารอาหาร ไม่ว่าจะเป็น คาร์โบไฮเดรต น้ำตาล โปรตีน ไขมัน แคลเซียม ฟอสฟอรัส วิตามินเอ วิตามินซี เบตาแคโรทีน โพแทสเซียม เป็นต้น

แม้ว่าทุเรียนจะเป็นแหล่งของสารอาหารดังกล่าวข้างต้น แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะกินได้ไม่อั้น แต่การกินทุเรียนจะต้องรู้เท่าทัน

"ทุเรียนเป็นผลไม้ที่ให้พลังงานสูง โดยในเนื้อทุเรียน 100 กรัม จะให้พลังงานเฉลี่ย 160 แคลอรี แต่ถ้าจำแนกตามสายพันธุ์ของทุเรียนแล้วจะพบว่า ทุเรียนก้านยาวจะให้พลังงานสูงสุด 180 แคลอรีต่อ 100 กรัม ชะนี 140-150 แคลอรี หมอนทอง 163 แคลอรี"

ทั้งนี้ เพื่อให้มองเห็นภาพชัดเจนขึ้น คือ ทุเรียน 1 ส่วน หรือประมาณครึ่งเม็ดขนาดกลาง จะให้พลังงาน 65 แคลอรีเทียบได้กับข้าวเกือบ 1 ทัพพี

ถึงขนาดว่าที่ผ่านมามีเคสตัวอย่างผู้สูงอายุเบื่ออาหาร รับประทานข้าวไม่ได้ ก็จะให้รับประทานทุเรียนเป็นการทดแทน ซึ่งจะให้พลังงานเหมือน ๆ กัน แต่ทั้งนี้ก็ต้องให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม

ส่วนที่ระบุว่าคนเป็นโรคเรื้อรัง โดยเฉพาะโรคไตห้ามรับประทานทุเรียนนั้น จริง ๆ แล้วสามารถรับประทานได้ แต่รับประทานในปริมาณที่พอเหมาะพอควร และที่ควรทราบคือ กรณีผลไม้มีผลต่อการทำงานของไตนั้นไม่เฉพาะทุเรียนเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงผลไม้ทุกชนิด เช่น มะเฟือง กล้วย เพราะมีโพแทสเซียมสูง

ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นอาหาร ผลไม้ คาว หวาน ถ้าจะรับประทานให้ได้ประโยชน์ กรมอนามัยแนะ นำให้รับประทานตามธงโภชนาการ  "ผัก" 2 ทัพพี ถ้าเป็นผักสดจะต้องรับประทานเพิ่มเป็น 2 เท่า ส่วนผลไม้ควรรับประทาน 3-5 ส่วนต่อวัน สิ่งสำคัญคือควรรับประทานให้หลากหลาย เน้นที่มีรสชาติไม่หวาน และไม่จิ้มน้ำตาลเพิ่ม