ที่มา www.dailynews.co.th

http://www.thaihealth.or.th/

 

ยิ่งไปกว่านั้นที่หลายอาจจะไม่รู้ “ต้ม ทอด ย่าง” ไม่สามารถทำลายพิษได้ เนื่องจากพิษทนความร้อน เห็ดบางชนิดมีพิษทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน เช่น เห็ดหัวกรวดครีบเขียว เห็ดบางชนิดรับประทานเพียงเล็กน้อยทำให้เกิดจินตนาการเป็นภาพหลอนคล้ายยาเสพติด เช่น เห็ดขี้วัว

หน้าฝนใครๆ ก็อยากกิน “เห็ดเผาะ” แม้จะราคาสูงถึง กิโลกรัมละ 600-700 บาท หลายคนก็ยอมควักสตางค์ซื้อ เพราะไม่ใช่หากินได้ง่ายๆ ปีหนึ่งออกเพียงละครั้ง

แต่ว่าใครแยกออกบ้าง...เห็ดแต่ละชนิดมีพิษหรือไม่มีพิษ คนบริโภคอย่างเราๆ ก็คงแยกไม่ออก เพราะ “เห็ดพิษ” และ “เห็ดรับประทาน” ได้บางชนิดคล้ายคลึงกันมาก โดยเฉพาะระยะดอกอ่อน ยิ่งคล้ายกันมากๆ

นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ให้ข้อมูลว่า ในแต่ละปีช่วงต้นฤดูฝนถึงต้นฤดูหนาว พ.ค.- พ.ย. ชาวบ้านนิยมเก็บเห็ดป่ามาประกอบอาหาร รวมทั้งนำไปขายสร้างรายได้ ในช่วงระยะเวลาเช่นนี้ จึงมีผู้ป่วยและเสียชีวิตจากกินเห็ด และมีแนวโน้มเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ

“ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีความเชื่อว่า เห็ดที่เก็บมานั้นไม่มีพิษ เพราะใช้ความรู้พื้นบ้านที่บอกต่อกันมา แต่ตามลักษณะภายนอกของเห็ดพิษและเห็ดที่รับประทานได้บางชนิด มีความคล้ายคลึงกันมาก”

โดยเฉพาะระยะดอกอ่อนของเห็ด จะไม่สามารถแยกความแตกต่างได้ด้วยตาเปล่า อีกทั้งความรู้และความเชื่อ ที่สอนสืบทอดกันมาในการทดสอบ “เห็ดพิษ” เช่น การนำข้าวสารมาต้มกับเห็ด ถ้าเป็นพิษข้าวสารจะสุกๆ ดิบๆ หรือเห็ดที่มีรอยแมลงกัดกินเป็นเห็ดไม่มีพิษนั้น ไม่สามารถให้ผลถูกต้องทั้งหมด ไม่ควรนำมาปฏิบัติ เพราะอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2551-2558 จะพบผู้ป่วยและเสียชีวิตมากในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพราะ “เห็ดพิษ” มีหลายชนิด บางชนิดมีพิษร้ายแรงถึงตาย เช่น “เห็ดระโงกหิน”

ปริมาณสารพิษที่สามารถทำให้คนตายได้เท่ากับ 0.1 มก./น้ำหนักตัว 1 กก. หรือพูดง่ายๆ หากกิน “เห็ดระโงกหิน” สดประมาณครึ่งดอก จะทำให้ตายได้ เพราะจัดว่าเป็นสารพิษในเห็ดร้ายแรงที่สุด

ยิ่งไปกว่านั้นที่หลายอาจจะไม่รู้ “ต้ม ทอด ย่าง” ไม่สามารถทำลายพิษได้ เนื่องจากพิษทนความร้อน เห็ดบางชนิดมีพิษทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน เช่น เห็ดหัวกรวดครีบเขียว เห็ดบางชนิดรับประทานเพียงเล็กน้อยทำให้เกิดจินตนาการเป็นภาพหลอนคล้ายยาเสพติด เช่น เห็ดขี้วัว

จริงอยู่เห็ดบางชนิดนั้น โดยปกติแล้วตัวเห็ดไม่มีพิษ แต่อาการพิษจะปรากฏเมื่อดื่มแอลกอฮอล์ภายใน 24-72 ชม. หน้าแดง ปวดหัวรุนแรง คลื่นไส้ อาเจียน หายใจเร็วและลำบาก หัวใจเต้นแรง ซึ่งเห็ดที่พบสารพิษชนิดนี้ เช่น เห็ดน้ำหมึก

แต่อาการของผู้ที่รับพิษจะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับชนิดของเห็ด อาจเกิดขึ้นภายหลังการกินไม่กี่นาที ไปจนถึงหลายชั่วโมงหรือหลายวัน หรือที่อาการรุนแรงจะเสียชีวิตภายใน 1-8 วัน สาเหตุเกิดจากตับและ ไตถูกทำลาย

 “ต้องทำให้ผู้ป่วยอาเจียนออกมาให้มากที่สุด ดื่มน้ำอุ่นผสมเกลือแกงแล้วล้วงคอออกมา ลดการดูดซึมพิษเข้าสู่ร่างกาย นำตัวส่งโรงพยาบาลใกล้บ้าน อย่าลืมนำตัวอย่างเห็ดสดที่เหลือจากการทำอาหารไปด้วย เพื่อให้หมอตรวจพิสูจน์สารพิษและสายพันธุ์เห็ดพิษ

รู้เช่นนี้แล้ว...ใครที่ชอบทานมากๆ ก็ควรระวังเห็ดหน้าฝนและคัดกรองพิถีพิถันกันนิดหนึ่ง เพราะ “เห็ดพิษ” หรือไม่มีพิษ ผู้บริโภคอย่างเราก็แยกไม่ออก ชาวบ้านที่เห็นเห็ดขึ้นตามป่าตามเขา ยิ่งต้องระวังให้ดี เสียชีวิตมานักต่อนักแล้ว!!