ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

http://www.thaihealth.or.th/

ปัจจุบันจำนวนประชากรทั้งหมดของไทย 64.5 ล้านคน มีผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวนทั้งหมด 9.4 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 14.5 ของประชากร และพบว่าประชากรผู้สูงอายุทั้งหมดล้วนเผชิญกับการคุกคามของโรคร้ายต่างๆ โดยโรคที่พบมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง 41.4% ปัญหาสุขภาพช่องปากและฟัน 37.4% โรคเบาหวาน 18.2% และโรคข้อเข่าเสื่อม 8.6% ดังนั้น ผู้สูงอายุควรมีแนวทางการใช้ชีวิตอย่างถูกหลักภายใต้การ ดูแลของครอบครัวอย่างใกล้ชิด ซึ่งแนวทางเบื้องต้นในการลดความเสี่ยงจากโรคยอดนิยมในผู้สูงอายุมีดังต่อไปนี้

โรคความดันโลหิตสูง เกิดจากหลายสาเหตุ เช่น การรับประทานอาหารที่มีรสเค็มจัด ความผิดปกติของหลอดเลือดเนื่องมาจากโรคอ้วน อายุมาก เชื้อชาติ การขาดการออกกำลังกาย หรือความผิดปกติทางพันธุกรรม รวมทั้งยังมีผู้ป่วยบางกลุ่มที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงโดยไม่ทราบสาเหตุอีกด้วย ดังนั้น ผู้สูงวัยทั้งหลายควรควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ รับประทานอาหารที่มีคุณภาพที่ให้สารอาหารที่เหมาะสมต่อวัย และหลีกเลี่ยงอาหารรสเค็ม ออกกำลังกายสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการสูบบุหรี่ นอกจากนี้ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา เนื่องจากยาบางตัวทำให้เกิดความดันโลหิตสูง ที่สำคัญคือ หลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่ก่อให้เกิดความเครียดที่ถือเป็นสาเหตุสำคัญของโรคความดันโลหิตสูง

โรคเหงือกและฟัน แม้จะดูเหมือนไม่รุนแรงนักหากเทียบกับโรคยอดนิยมอื่นๆ แต่ก็สร้างความยากลำบากในการใช้ชีวิตให้แก่ผู้สูงอายุไม่น้อย เพราะการสึกกร่อนของฟันกรามที่ใช้บดเคี้ยวอาหารและปลายฟันหน้า บริเวณคอฟันใกล้ขอบเหงือกที่ทำให้มีอาการเสียวฟัน ยังเป็นสาเหตุให้เกิดฟันผุ เกิดสะสมของเชื้อโรค และนำไปสู่โรคในช่องปากอื่นๆ ดังนั้น ควรทำความสะอาดช่องปากด้วยแปรง ที่มีด้ามจับถนัดมือ ขนาดหัวแปรงพอดีกับช่องปาก ขนแปรงนิ่ม ปลายมน และเปลี่ยนแปรงสีฟันทุกๆ 2-3 เดือน ใช้ฟันปลอมที่ทำความสะอาดง่าย ถ้าเป็นชนิดติดแน่น ควรใช้ไหมขัดทำความสะอาด ควรเลือกกินอาหารที่มีกากใยย่อยง่าย ลดอาหารที่เหนียวติดฟัน

โรคเบาหวาน มักเกิดกับผู้สูงอายุ เนื่องจากร่างกายที่มีระบบการทำงานที่ถดถอย ตับอ่อนไม่สามารถผลิตสารอินซูลินเพื่อเผาผลาญคาร์โบไฮเดรตได้อย่างเต็มที่ จึงทำให้มีน้ำตาลตกค้างในเลือดสูงส่งผลให้เกิดโรคเบาหวาน สัญญาณเตือนของโรคนี้ คือ หิวน้ำบ่อย ปัสสาวะบ่อย อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ ติดเชื้อบ่อยๆ เป็นแผลแล้วหายช้า ตาพร่ามองไม่เห็น นำไปสู่โรคแทรกซ้อนมากมาย เช่น หลอดเลือดหัวใจตีบ ไตวาย สมองตีบ อัมพฤกษ์ อัมพาต ฯลฯ ซึ่งสามารถลดความเสี่ยงของโรคได้โดยการเลี่ยงอาหารรสหวานจัดหรือมีแป้งมาก และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

โรคกระดูกและข้อ มีสาเหตุจากการสูญเสียมวลกระดูกจากการขาดแคลเซียม ทำให้กระดูกอ่อนที่ฉาบผิวกระดูกข้อไว้ไม่ให้เกิดการเสียดขณะลุก นั่ง ยืน หรือเดินมีการเสื่อมสภาพ เมื่อผู้ป่วยเดินขึ้นลงบันได ออกกำลังกาย หนักๆ หรือยกของหนัก จะเกิดอาการเจ็บปวดในบริเวณอวัยวะที่รับน้ำหนักมากๆ เช่น เข่า สะโพก ข้อกระดูกสันหลัง คอ

นอกจากนี้ ยังมีสาเหตุมาจากการลดลงของแคลเซียมในร่างกายของผู้สูงวัยที่มีอายุเกิน 50 ปี ซึ่งสามารถป้องกันได้โดยควบคุม น้ำหนัก ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม ไม่ยกของหนัก หรืออยู่ในท่าที่ทำให้อวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งรับน้ำหนักมากจนเกินไป รับประทานอาหารที่ให้แคลเซียมอย่างเพียงพอ ที่สำคัญคืองดพฤติกรรมที่ทำให้ร่างกาย สูญเสียแคลเซียม เช่น สูบบุหรี่ ดื่มกาแฟ หรือใช้ ยาสเตียรอยด์  เป็นต้น