เรื่องโดย : ทพญ.พัชรมัย อดออมพานิช สาขาทันตกรรมประดิษฐ์ งานทันตกรรม รพ.ศิริราช
ที่มา : คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
http://www.thaihealth.or.th/
การฟื้นฟูสภาพช่องปาก (Oral Rehabilitation) คือ การรักษาทางทันตกรรมบูรณะเพื่อแก้ไขความผิดปกติของระบบบดเคี้ยว โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อให้ระบบบดเคี้ยวสามารถใช้งานได้ดังเดิม ข้อต่อขากรรไกรและกล้ามเนื้อระบบบดเคี้ยวทำงานสัมพันธ์กันอย่างเป็นปกติ โดยการบูรณะอาจเกิดขึ้นกับฟันเพียงหนึ่งซี่ หรือฟันทุกซี่ในช่องปาก
การฟื้นฟูสภาพช่องปากมักทำในผู้ป่วยกลุ่มใด
ผู้ป่วยแต่ละคนที่มารับการรักษาทางทันตกรรมเพื่อฟื้นฟูสภาพช่องปาก มักมาด้วยปัญหาและสาเหตุที่แตกต่างกันไป แต่ทุกสาเหตุของปัญหาล้วนนำมาสู่การเกิดรูปร่างใบหน้า รูปร่างฟันที่เปลี่ยนแปลง มีความสวยงามลดลง และการทำงานของระบบบดเคี้ยวด้อยประสิทธิภาพ
กรณีฟันสึก
ฟันสึก หมายถึง การที่ผิวฟันส่วนใดส่วนหนึ่งค่อยๆกร่อนหลุดไปทีละน้อย ซึ่งมักจะเกิดแบบค่อยเป็นค่อยไป หากเกิดการสึกมากจนผิวเคลือบฟันหายไปจนถึงชั้นเนื้อฟันจะเกิดการเสียวฟัน และหากสึกลึกมากจนถึงชั้นโพรงประสาทฟันก็จะทำให้เกิดการปวดขึ้นได้ ตัวฟันที่สั้นลงอาจส่งผลกระทบต่อความสวยงามทั้งในส่วนของรูปร่างฟันและรูปร่างใบหน้าที่แลดูสั้นลง กรณีที่ปัญหาเกิดขึ้นต่อเนื่องยาวนานอาจส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติที่ข้อต่อขากรรไกร และปวดเมื่อยกล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องกับระบบบดเคี้ยวได้
ฟันสึกมีสาเหตุมาจากหลายๆ ปัจจัย ได้แก่
1. การขบเคี้ยวของแข็ง เช่น กระดูกไก่ กระดูกหมู ถั่ว ผลไม้ที่มีเปลือกแข็ง น้ำแข็ง เป็นต้น หรือรับประทานอาหารที่มีความเป็นกรดสูงบ่อยๆ เช่น อาหารรสเปรี้ยวจัด เครื่องดื่มที่มีกรดคาร์บอนิกต่างๆ เป็นต้น ซึ่งหากรับประทานต่อเนื่องกันเป็นเวลานานจะสามารถส่งผลให้ด้านบดเคี้ยวของฟันกรามสึกได้
2. การนอนกัดฟันในเวลากลางคืน หรือการขบเน้นฟันในเวลากลางวันเป็นอุปนิสัย
กรณีความผิดปกติทางพันธุกรรม
ในระดับพันธุกรรม ยีนหลายตัวมีบทบาทที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างของฟัน การกลายพันธุ์ระดับยีน สามารถทำให้เกิดความผิดปกติขึ้นกับฟันได้ ตัวอย่างเช่นผู้ป่วยในกลุ่มที่มีความผิดปกติในการสร้างเคลือบฟัน (Amelogenesis Imperfecta) ที่เกิดการกลายพันธุ์ที่กลุ่มยีน ที่มีความสำคัญต่อการสร้างโปรตีนที่จำเป็นต่อการสร้างเคลือบฟันชั้น นอก ซี่งเป็นส่วนที่มีปริมาณแคลเซียมเป็นองค์ประกอบมากและมีความแข็งสูง เมื่อเกิดการกลายพันธุ์ที่ยีนดังกล่าว จึงส่งผลให้เคลือบฟันมีความแข็งแรงลดลง และอาจบางกว่าปกติมาก ฟันมีสีเหลืองมากหรือพบเป็นสีน้ำตาล รวมทั้ง มีลักษณะพื้น ผิวขรุขระ ผุง่าย สึกง่าย
กรณีสูญเสียฟันไปบางซี่และเกิดช่องว่าง
ฟันที่ถอนไปแล้ว เมื่อเวลาผ่านไปผู้ป่วยที่ไม่ได้ทำการบูรณะเพื่อทดแทนช่องว่าง มักจะส่งผลให้เกิดการล้มเอียงของฟันข้างเคียงเข้าหาช่องว่าง เกิดการห่างของซี่ฟันอื่นๆ ส่งผลต่อความสวยงามและการดูแลทำความสะอาด
กรณีสูญเสียฟันไปหลายซี่
เมื่อมีการสูญเสียฟันไป ฟันคู่สบจะเริ่มมีการยื่นยาวลงมาสู่สันเหงือกว่าง จนในที่สุดอาจชิดติดสันเหงือกทำให้ยากต่อการบูรณะ กรณีการสูญเสียฟันหลังสาหรับบดเคี้ยว ผู้ป่วยจะใช้ฟันหน้าในการบดเคี้ยวแทนซึ่งจะส่งผลให้มีการยื่นขากรรไกรเพื่อทำการบดเคี้ยว ส่งผลกระทบต่อข้อต่อขากรรไกรและกล้ามเนื้อระบบบดเคี้ยวเกิดการทำงานผิดปกติ มีอาการเจ็บปวด หรือเมื่อย และฟันหน้าบนจะสึกและอาจผายออกมาทางด้านหน้ามากขึ้น เป็นต้น
ในการรักษาทางทันตกรรมเพื่อฟื้นฟูสภาพช่องปาก ผู้ป่วยควรได้รับคำแนะนาและการประเมินการรักษาจากทันตแพทย์ ผู้ป่วยแต่ละคนย่อมมีรูปแบบและแนวทางในการรักษาที่แตกต่างกันไปเนื่องมาจาก ระดับความยาก-ง่ายในการรักษา ความสามารถในการปรับตัวของผู้ป่วย ความจำเป็นต่อการเข้ารับการรักษาทางทันตกรรมอื่นๆก่อนเข้าสู่ระยะบูรณะฟื้นฟูสภาพช่องปากเป็นลำดับสุดท้าย ซึ่งจะมีผลต่อระยะเวลาทั้งหมดที่ผู้ป่วยต้องใช้เพื่อการรักษา รวมทั้งผู้ป่วยที่ปัญหายังอยู่ในระยะเริ่มต้น เช่น มีการสึกของฟันระยะแรกเพียงเล็กน้อย หรือเพิ่งสูญเสียฟันไป หากได้รับการรักษาที่ถูกต้องและรวดเร็ว จะสามารถลดโอกาสการเกิดความผิดปกติของระบบบดเคี้ยวได้
ดังนั้น การตรวจสุขภาพช่องปากและฟันอย่างสม่ำเสมอ และพบทันตแพทย์เป็นประจำทุกๆ 6 เดือน จะช่วยให้ผู้ป่วยรับทราบสุขภาวะช่องปากของตนเองและสามารถเฝ้าระวังป้องกันการเกิดปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับระบบบดเคี้ยวโดยภาพรวมได้