ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

http://www.thaihealth.or.th/

 

ภาวะโลกร้อน ไม่ได้มีผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเลในเขตขั้วโลกเท่านั้น แต่ยังมีผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเลในเขตทะเลไทยด้วย

รศ.สุชนา ชวนิชย์ รองผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาฯ พร้อมด้วยเครือข่าย นักวิทยาศาสตร์ชาวญี่ปุ่นและจีนไปร่วมสำรวจขั้วโลกใต้ ที่ร่วมศึกษาและติดตามสถานการณ์ภาวะโรคร้อนอย่างใกล้ชิด พบว่า การที่อุณหภูมิในน้ำทะเลสูงขึ้นและน้ำแข็งที่ขั้วโลกละลายมากขึ้น มีผลกระทบต่อเพนกวิน ทำให้อัตราการรอดของลูกเพนกวินลดลงกว่าเดิมมาก ขณะเดียวกันพบว่า มีพยาธิบนตัวปลาและในตัวปลาขั้วโลกมากขึ้น แสดงให้เห็นว่ามีเชื้อโรคสูงขึ้น เมื่ออุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้นกว่าปกติมากเท่าไร โอกาสที่จะมีพยาธิหรือเชื้อโรคบนตัวสัตว์ทะเลจะเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น โดยปริมาณพยาธิที่เพิ่ม อาจส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมการว่ายน้ำและการกินอาหารของปลา และอาจทำให้ปลาตายในที่สุด

ภาวะโลกร้อนนั้น ไม่ได้มีผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเลในเขตขั้วโลกเท่านั้น แต่ยังมีผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเลในเขตบ้านเราด้วย โดยเฉพาะปะการัง จากการตรวจติดตามของทางกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รวมทั้งการสำรวจของทีมจุฬาฯ พบมีปะการังฟอกขาวเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทั้งอ่าวไทยและอันดามัน

ยกตัวอย่าง บริเวณเกาะแสมสารนั้น พบว่าปะการังเริ่มมีการฟอกขาวประมาณ 10% ถือว่ามีการฟอกขาวในปริมาณที่น้อยกว่าแนวปะการังในพื้นที่ฝั่งอันดามัน และอุณหภูมิน้ำทะเลขณะนี้สูงประมาณ 33.9 องศาเซลเซียส สูงกว่าปกติอยู่ประมาณ 3 -4 องศา ต้องมีการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด