ที่มา: manager.co.th  โดย สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

http://www.thaihealth.or.th/

 

ปัจจุบันดูเหมือนเรื่องรถติดมีแต่นับวันยิ่งสาหัสสากรรจ์ กลายเป็นเรื่องปกติในชีวิตไปเสียแล้ว ถ้าใครหยิบยกเอาเรื่องนี้มาเป็นข้ออ้างก็ดูเหมือนไม่น่ารับฟังเท่าไรนัก เพราะเป็นเรื่องปกติ รถไม่ติดต่างหากที่เป็นเรื่องผิดปกติ

เรื่องรถติดไม่มีใครชอบแน่ เพราะมันนำมาซึ่งความหงุดหงิด อารมณ์เสีย และถ้ายิ่งต้องมาเผชิญกับสภาพอากาศที่ไม่เป็นใจ เช่น ฝนตก สิ่งที่ตามมาก็คือ รถติดหนักขึ้นไปอีก เพราะมีความเสี่ยงเรื่องน้ำท่วม น้ำขัง ที่กลายเป็นทุกข์ของคนกรุง ที่ยังไม่เคยมีผู้ใดสามารถแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้ เพราะปัญหามันได้ถูกหมักหมมมาอย่างยาวนาน

ยิ่งผนวกเข้ากับคนที่ใช้รถใช้ถนนที่ไร้วินัยจราจร ขับรถตามความพอใจของตัวเอง ไม่สนเรื่องกฎจราจรใด ๆ ก็ยิ่งทำให้ผู้คนอารมณ์เสียหนักเข้าไปอีก ไม่แปลกใจที่เราจะพบเห็นความร้อนแรงของอารมณ์ผู้คนบนท้องถนนที่ขับรถปาดหน้ากันถึงสามารถยิงกันได้

ดิฉันเชื่อเหลือเกินว่าไม่เคยมีใครที่ใช้รถใช้ถนนแล้วไม่อารมณ์เสีย ไม่หงุดหงิด หรือไม่สบถต่อว่ารถคันอื่น

แต่รู้ไหมว่าสิ่งที่เรากระทำต่าง ๆ ภายในรถซึ่งมีเด็กนั่งอยู่ด้วย ไม่ว่าจะเป็นลูกหลานหรือไม่ก็ตาม คุณกำลังมีส่วนต่อการเป็นแบบอย่างให้กับพวกเขาเหล่านั้น มิหนำซ้ำ ไม่ว่าเราสบถยังไงก็ได้ยินกันแต่ในรถเรา ลูกเรา หลานเรา เด็กที่นั่งอยู่กับเรา หาใช่คนที่ทำให้เราหงุดหงิดที่อยู่ข้างนอกไม่

จริงอยู่ว่าบางทีมันอดไม่ได้หรอกจะให้อารมณ์ดีได้อย่างไรท่ามกลางสภาวะรถติด แต่ถ้าเราลองเปลี่ยนวิธีคิดและมุมมอง เพื่อทำให้ช่วงเวลาเลวร้ายแห่งอารมณ์ สามารถผ่านพ้นไปได้ด้วยดี และยังกลายเป็นช่วงเวลาแห่งการเรียนรู้ไปได้ด้วยล่ะ 

ก่อนอื่นคุณต้องคิดเสมอว่าบนรถของคุณมีเด็ก และพฤติกรรมต่าง ๆ ของคุณก็กำลังถูกเด็ก ๆ จับจ้องโดยตลอด เพราะภายในรถยนต์มีพื้นที่จำกัด เพราะฉะนั้น ต้องเริ่มจากการระมัดระวังตัวเองเสียก่อน แล้วลองเปลี่ยนวิธีคิดว่าแม้รถจะติด แต่เราจะไม่ปล่อยให้อารมณ์ติดขัดไปด้วย

ประการแรก - ปรับอารมณ์ตัวเองให้ได้ก่อน

ควรทำใจว่าบนถนนที่เราต้องเผชิญ อย่างไรรถก็ติด เพราะฉะนั้นการบ่นว่ารถติดมันไม่ช่วยอะไร ลองเปลี่ยนเป็นว่า อย่างไรเราก็ต้องเจอกับสภาพรถติดแน่ ไอ้ครั้นจะรอให้ใครมาแก้ปัญหาคงยาก ตรงข้ามกลับยิ่งหงุดหงิดเข้าไปอีก เพราะโมโหคนที่อาสาจะมาเป็นผู้นำกทม. ก็ไม่สามารถช่วยแก้ไขอะไรได้

ประการที่สอง - ทำให้เป็นช่วงเวลาแห่งความสุข

ถ้าคุณมีลูกอยู่บนรถ และต้องไปรับไปส่งลูกที่โรงเรียน แน่นอนว่าคุณต้องเผชิญกับเรื่องรถติด และเรื่องการหาที่จอดรถอย่างแน่นอน เพราะฉะนั้น ควรพลิกวิกฤตเป็นโอกาส ด้วยการชวนลูกเล่นเกมในรถร่วมกันซะเลย โดยดูความสนใจและวัยของลูกเป็นหลัก และอย่าลืมสวมหัวใจเด็กเล่นกับลูกด้วยนะคะ รับประกันเสียงหัวเราะตามมาแน่นอนค่ะ

ประการสาม - สอดแทรกเรื่องที่อยากสอน

ขอเน้นว่าเป็นการสอดแทรกนะคะ มิใช่การจ้องจะสอน เช่น ชวนคุยเรื่องที่ลูกสนใจ แล้วลองตั้งคำถามไปเรื่อยๆ เพื่อให้เขาเล่าเรื่องต่าง ๆ ให้ฟัง แล้วถามถึงความรู้สึกต่อเรื่องนั้น เป็นโอกาสที่ดีที่จะได้รู้ว่าลูกไปเจออะไรมาบ้าง และเขารู้สึกอย่างไร ซึ่งแน่นอนว่ามีทั้งเรื่องที่ดีและไม่ดี ก็ค่อย ๆ สอดแทรกว่าสิ่งที่เหมาะสมควรจะเป็นอย่างไร

ประการที่สี่ - ชวนคุยเรื่องสถานการณ์ปัจจุบัน

บางวันก็อาจติดตามข่าวสารจากวิทยุ ลองสังเกตว่าลูกสนใจข่าวอะไรเป็นพิเศษหรือไม่ หรือมีบางข่าวที่เราคิดว่าเป็นเรื่องใกล้ตัวที่น่าจะชวนลูกพูดคุย ก็ลองถามอารมณ์ความรู้สึก และให้เขาลองคิดว่าถ้าเป็นเขาเจอสถานการณ์แบบนี้แล้วจะทำอย่างไร เรียกว่าเป็นการเปิดประเด็นที่นอกจากจะได้รู้ความคิดลูกแล้ว ยังเป็นการกระตุ้นลูกให้ได้ฝึกคิดวิเคราะห์ไปด้วย

ประการที่ห้า - ฟังเพลงด้วยกัน

เป็นหน้าที่ของพ่อแม่ที่ควรจะสรรหาบทเพลงไพเราะที่มีเนื้อหาที่เหมาะสมกับวัย หรือเพลงที่ลูกชอบก็ได้ หรืออาจจะใช้วิธีสลับบทเพลงกับสมาชิกในครอบครัวที่เดินทางอยู่ในรถด้วยกันก็ได้ เท่ากับทำให้ลูกได้เรียนรู้บทเพลงที่ต่างยุคสมัยอีกด้วย หรือถ้าจะให้สนุกไปกว่านั้น ชวนกันร้องเพลงซะเลย

5 ประการนี้เป็นเพียงตัวอย่างที่หยิบยกมาให้เห็นเท่านั้น

จริง ๆ ก็มีอีกหลายวิธีที่คุณสามารถจะนำไปใช้ขณะอยู่บนรถได้ เพียงแต่ต้องก้าวข้ามข้อแรกไปให้ได้ก่อนว่าต้องปรับใจและอารมณ์ตัวเองให้ได้ก่อน ว่าจะไม่อารมณ์เสีย เพราะถ้าข้อนี้ไม่ผ่าน ก็ไม่สามารถไปข้ออื่นได้เลย

จะว่าไปแล้วเรื่องนี้ก็สามารถตกลงกับคู่ชีวิตคุณได้นะคะ ว่าถ้าหากใครคนใดคนหนึ่งอารมณ์เสียในรถ ให้สะกิดกัน เพื่อให้สงบสติอารมณ์ก่อน แล้วอีกคนหนึ่งเข้ามามีบทบาทก่อน และเมื่ออีกฝ่ายสามารถสงบสติอารมณ์ได้แล้ว ค่อยกลับมาร่วมวงกันใหม่ เรียกว่าทำงานกันเป็นทีม และอย่างน้อยก็ทำให้บรรยากาศไม่ขุ่นมัว

ช่วงนี้เข้าสู่ฤดูฝนกันแล้วด้วย สถานการณ์ที่ฝนตกทุกวัน น้ำท่วมขังทุกวัน มันพร้อมที่จะทำให้ผู้คนที่ใช้รถใช้ถนนอารมณ์เสียได้ง่ายมาก ต้องคอยเตือนใจตัวเองละกันค่ะ ว่าอารมณ์และพฤติกรรมของเราอยู่ในสายตาของลูกค่ะ

รถติดแก้ไม่ได้ด้วยตัวเรา แต่ใจเราใช้สติควบคุมได้ ไม่ให้ติดตามรถไปด้วย