ที่มา : www.thairath.co.th

http://www.thaihealth.or.th/

ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา มีการกล่าวถึงการระบาดของโรคไข้เลือดออกกันมาก ประชาชนให้ความสนใจและตื่นตัวกันเป็นอย่างดี ซึ่งส่วนใหญ่จะคิดว่า โรคไข้เลือดออกมีอาการเพียงแค่มีไข้และมีเลือดออก แต่ที่จริงแล้วไข้เลือดออกยังมีอาการแสดงออกทางผิวหนังด้วย

โรคไข้เลือดออกเกิดจากเชื้อไวรัสเด็งกี่ (Dengue Virus) มี 3 ชนิด แบ่งตามความรุนแรงของการติดเชื้อ ได้แก่ ไข้เด็งกี่ชนิดธรรมดา ไข้เด็งกี่ชนิดเลือดออก และไข้เด็งกี่ชนิดช็อก ไวรัสเด็งกี่สามารถติดต่อได้โดยมียุงลายเป็นพาหะ ซึ่งเชื้อไวรัสในยุงลายจะทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยภายหลังร่างกายได้รับเชื้อประมาณ 3–14 วัน อาการที่พบ ได้แก่ มีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา ปวดเมื่อยตามตัวปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และปวดตามข้อ

สำหรับอาการทางผิวหนังที่พบในโรคไข้เลือดออก ได้แก่ อาการผิวหนังแดงบริเวณใบหน้า ลำคอ และหน้าอก สามารถพบได้ราว 50–80% ของผู้ป่วย ซึ่งเกิดจากหลอดเลือดฝอยใต้ผิวหนังขยายตัว อาการนี้มักพบได้ในช่วง 24–48 ชั่วโมงแรกของการเจ็บป่วย อย่างไรก็ตามอาการดังกล่าวไม่ได้จำเพาะต่อโรคไข้เลือดออกเท่านั้น แต่อาจพบได้ในโรคติดเชื้อไวรัสชนิดอื่นๆ หรือแบคทีเรียบางชนิด เช่น ไข้ดำแดง

อย่างไรก็ตาม หากมีอาการผิดปกติต้องให้ความสำคัญกับสุขภาพก่อนสิ่งอื่นใด นอกจากการเฝ้าระวังและสังเกตอาการต่างๆ แล้ว ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อให้เกิดความมั่นใจและเป็นการป้องกันตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่ออาการต่างๆ ของโรคจะไม่ลุกลามไปตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย หมั่นดูแลสุขภาพตนเองด้วยนะครับ