โรคป่วง ชื่อโรคที่เห็นแวบเดียวก็รู้แล้วว่าคงเป็นโรคที่มีมาแต่โบราณ และแม้โรคป่วงจะไม่ใช่โรคติดต่อ แต่ความรุนแรงของอาการก็ถือว่าต้องระวัง เพราะคนไข้อาจเสียน้ำมากจนเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ วันนี้เราจึงนำข้อมูลโรคป่วงมาบอกต่อ เพราะจะว่าไปโรคป่วงก็เป็นโรคภัยที่ใกล้ตัวเราไม่เบาเลยล่ะ
โรคป่วงหรือไข้ป่วงคือ
โรคป่วยเป็นโรคที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ ซึ่งต้องบอกว่าในยุคนั้นที่มีโรคป่วงระบาดใหม่ ๆ ไข้ป่วงก็คร่าชีวิตประชาชนไปไม่น้อย เนื่องจากโรคป่วงเป็นโรคที่เกี่ยวกับอาหารการกินที่ส่งผลต่อไปยังระบบทางเดินอาหาร หรือที่โบราณเรียกว่า อาการธาตุผิดสำแดง แสลงโรค
สาเหตุของโรคป่วง
โรคป่วงเกิดจากการกินอาหารที่ผิดสำแดงหรืออาหารมีพิษ ไม่ถูกสุขลักษณะมากพอจนทำให้กระเพาะอาหารติดเชื้อ เกิดอาการถ่ายท้องได้
อาการของโรคป่วง
ผู้ป่วยโรคป่วงในระยะเริ่มต้นอาจมีอาการปวดมวนท้อง ถ่ายเหลว และอาจมีลมในกระเพาะร่วมกับอาการอาเจียนตามมา เนื่องจากอาหารที่ผิดธาตุ กินอาหารที่กระเพาะไม่คุ้นเคยมาก่อน หรือในบางรายที่มีอาการของโรครุนแรง ก็อาจมีอาการถ่ายท้องอย่างหนักร่วมกับอาการอาเจียน ซึ่งถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ผู้ป่วยโรคป่วงอาจสูญเสียน้ำในร่างกายจนตายได้
แต่จะว่าไปแล้วอาการของโรคป่วงก็คล้ายอาการของโรคอหิวาตกโรค เพียงแต่ความรุนแรงมีน้อยกว่า ทว่าในบางรายอาจมีอาการตะคริวที่ปลายมือ ปลายเท้า ท้องเสีย และอาเจียน ซึ่งโบราณจะเรียกอาการเหล่านี้ว่า สันนิบาตคลองสอง คือ ทั้งลงและทั้งราก ออกทั้งปากและรูทวารนั่นเอง
โรคป่วง รักษาอย่างไร
สำหรับผู้ป่วยโรคป่วงที่มีอาการอาเจียนเบา ๆ อาจกินยาบรรเทาอาการอาเจียนรักษาอาการไปก่อนในเบื้องต้น หรือหากมีอาการตะคริวร่วมด้วย ควรประคบร้อนยังบริเวณที่เป็นตะคริว ทว่าหากคนไข้มีถ่ายท้องอย่างรุนแรง อ่อนเพลีย และอาเจียนอย่างหนัก ควรรีบนำตัวส่งโรงพยาบาลโดยด่วน
สมุนไพรรักษาโรคป่วง
ด้วยความที่เป็นโรคที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ จึงมีการนำสมุนไพรมารักษาอาการป่วงอยู่บ้าง โดยใช้แว่นสน จันทน์เทศ เทพธาโร ขิงแห้ง แห้วหมู ลูกผักชี มะตูมอ่อน รากช้าพลู หญ้าตีนนก รากแฝกหอม หัวหอม หัวตะไคร้ ผลยอเผาไฟพอสุก อย่างละ 15 กรัมมาต้มน้ำจนเดือดแล้วกรองเอาแต่น้ำมาจิบบ่อย ๆ
นอกจากตัวยาที่กลั่นจากสมุนไพรสำหรับรักษาโรคป่วงแล้ว สูตรยาหม้อสำหรับรักษาโรคป่วงก็มีด้วยเช่นกัน โดยนำกำมะถันเหลือง ผิวส้มโอ รากต่อไส้ รากหวายลิง นมจาก อย่างละเท่า ๆ กัน มาต้มให้เดือด แล้วกรองเอาแต่น้ำมาดื่มครั้งละ 3-4 ช้อนโต๊ะ ทุก ๆ 2-3 ชั่วโมง
และไม่เพียงแต่โรคป่วงหรือไข้ป่วงที่มีอาการถ่ายท้องเท่านั้น อาการทางเลือดลมที่เรียกว่าโรคลมป่วงก็ควรศึกษาข้อมูลไว้เช่นกัน ดังนี้
โรคลมป่วง
จากข้อมูลระบุว่า โรคลมป่วงเกิดจากอาการอาหารไม่ย่อย ทำให้ปวดมวนท้อง เคสหนักอาจปวดท้องจนตัวบิดงอ มีอาการอาเจียน เสียดสีข้าง น้ำลายไหล ปวดเมื่อเนื้อตัว ต้นคอ บ่า หลัง แข้งขา หรือมีอาการปวดเวียนศีรษะและเหนื่อยหอบร่วมด้วย ซึ่งอาการโรคลมป่วงมักจะเกิดกับผู้สูงอายุ ที่ระบบการย่อยอาหารเริ่มทำงานได้ช้าลง จนทำให้เกิดอาการอาหารไม่ย่อย เลือดจะไปลมจะมา
สมุนไพรรักษาลมป่วง
คนโบราณมักใช้ตัวยาจากสมุนไพรรักษาโรคลมป่วงซึ่งได้แก่ แห้วหมูนา แก่นสะเดา ผลผักชี ลูกสัก แก่นสน อย่างละ 23 กรัม ขมิ้นชัน 3 แว่น ขมิ้นอ้อย 3 แว่น นำมาใส่หม้อต้ม เติมน้ำ 3 ส่วน เคี่ยวให้เหลือ 1 ส่วน รับประทานเช้า-เย็น ครั้งละครึ่งแก้ว เชื่อว่าจะรักษาโรคลมป่วงได้ชะงัด
ไม่ว่าจะโรคป่วง ไข้ป่วง หรือลมป่วง ก็มักเกิดจากการกินอาหารผิดสำแดงจนส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินอาหารของเรานั่นเองนะคะ ฉะนั้นพยายามกินอาหารที่ถูกสุขลักษณะและกินให้อิ่มแต่พอดีน่าจะปลอดภัยต่อสุขภาพมากกว่า
ขอขอบคุณข้อมูลจาก