ถ้าหลายๆ คนจะเข้าว่า การเลือกทานผักและผลไม้เป็นสิ่งที่ดี เพราะมันสามารถให้ประโยชน์กับร่างกายเราได้แบบไม่มีข้อแม้ก็คงจะไม่ผิดหรอกค่ะ แต่รู้ไหมว่า… ผัก ผลไม้ บางอย่าง ก็ไม่ได้เหมาะกับผู้ป่วย หรือผู้ที่มีโรคประจำตัวบางราย ขืนทานเข้าไป เสี่ยงอันตรายแย่! ลองมาเช็กกันหน่อยดีกว่าว่า ถ้าคุณหรือคนรอบข้างกำลังเป็นโรคเหล่านี้อยู่ ห้ามทานผักและผลไม้อะไรบ้าง?

1. ผู้ป่วยโรคไต ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานผักผลไม้ที่มีสารของกรดออกซาลิกปริมาณสูง อาทิ มันสำปะหลัง ดอกกะหล่ำ ผักโขม ปวยเล้ง เป็นต้น เนื่องจากกรดออกซาลิกสามารถจับกับแคลเซียมตกตะกอนเป็นก้อนนิ่วที่ไต นอกจากนี้ผู้ป่วยไตเรื้อรัง ควรหลีกเลี่ยงผักผลไม้ที่มีโพแทสเซียมสูง เช่น หน่อไม้ ใบขี้เหล็ก ทุเรียน มะละกอ เป็นต้น

2. ผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมีย เป็นโรคเลือดจางที่มีสาเหตุมาจากความผิดปกติทางพันธุกรรม มีปริมาณธาตุเหล็กสูง แต่ไม่สามารถนำมาสร้างเม็ดเลือดแดงเองได้ ทำให้เกิดภาวะธาตุเหล็กสูงในเลือดซึ่งเป็นอันตราย ฉะนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง เช่น ตับสัตว์ เครื่องในสัตว์ รวมไปถึงผักผลไม้ที่มีธาตุเหล็กสูง เช่น ผักกูด ถั่วฝักยาว ผักแว่น เห็ดฟาง ใบตำลึง ใบแมงลัก ส้ม เป็นต้น

3. ผู้ป่วยโรคไทรอยด์ สิ่งที่ผู้ป่วยกลุ่มนี้พึงระวังคือ พืชวงศ์ Cruciferae ได้แก่ กะหล่ำปลี ทูนิป horseradish และเมล็ดพรรณผักกาดชนิดต่างๆ ซึ่งผลที่เกิดขึ้นคือ จะทำให้เกิดเป็นโรคคอหอยพอก แต่สารพิษเหล่านี้จะถูกทำลายโดยการต้ม จึงควรรับประทานกะหล่ำปลีสุกดีกว่ากะหล่ำปลีดิบ

4. ผู้ป่วยโรคกระเพาะและลำไส้ ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคพริก เพราะจะทำให้กระเพาะอักเสบได้ และยิ่งผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งกระเพาะ หากกินพริกในปริมาณมากจะทำให้อาการของโรคมะเร็งกระเพาะอาหารเป็นมากขึ้น เนื่องจากพริกมีสารที่เรียกว่า แคปไซซิน ซึ่งทำให้เกิดความเผ็ดร้อน พบมากในส่วนของรกพริกและเมล็ดพริก ดังนั้นความเผ็ดของพริกจึงทำให้ระคายเคืองกระเพาะอาหารและทำให้อาการของโรครุนแรงขึ้นได้

 

ที่มา : สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา