ที่มา : โลกวันนี้วันสุข  โดย  นพ.ชาญวิทย์ พรนภดล จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น รพ.ศิริราช

http://www.thaihealth.or.th/

 

ปัจจุบันพบว่าเด็กในวัยเรียนป่วยเป็นโรคสมาธิสั้น ถึงร้อยละ 5 เราจะช่วยดูแลรักษาเด็กสมาธิสั้นได้อย่างไร มีคำแนะนำมาฝากครับ

เด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นจะมีปริมาณสาร dopamine, noradrenaline ในสมองน้อยกว่าเด็กปรกติ ทำให้ไม่สามารถควบคุมตนเองได้ อีกสาเหตุเกิดจากกรรมพันธุ์ ร้อยละ 30-40

อาการที่บ่งชี้ว่าเด็กอาจเป็นโรคสมาธิสั้นมี 2 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ 1.อาการขาดสมาธิ เช่น วอกแวกง่าย หงุดหงิดง่าย ทำงานไม่เสร็จ ขาดสมาธิในการเรียนหรือเล่น ไม่ค่อยฟังเวลาพูด ทำงานผิดพลาดบ่อยๆ ไม่ค่อยเป็นระเบียบ หนีปัญหา ทำของหายบ่อยๆ ขี้ลืมบ่อยๆ 2.อาการซน อยู่ไม่นิ่ง และหุนหันพลันแล่น วู่วาม เด็กมีลักษณะซน ตื่นตัวตลอดเวลา พูดมาก เล่นเสียงดัง ใจร้อน ทำงานไม่เสร็จ ชอบขัดจังหวะหรือสอดแทรกเวลาผู้อื่นพูด รอคอยอะไรนานๆไม่ได้ ถ้าเด็กมีอาการมากกว่า 6 อาการขึ้นไป และเริ่มมีอาการเหล่านั้นมาก่อนอายุ 7 ขวบ มีความเป็นไปได้สูงที่จะเป็นโรคสมาธิสั้น

ทั้งนี้ แพทย์จะซักประวัติอย่างละเอียด ร่วมกับการตรวจร่างกาย ระบบประสาท และการสังเกตพฤติกรรมของเด็กเป็นหลัก ปัจจุบันยังไม่มีการตรวจเลือดหรือเอกซเรย์สมองที่สามารถนำมาใช้ในการวินิจฉัยโรคสมาธิสั้นได้ และบางรายอาจจำเป็นต้องตรวจเพิ่มเติม เช่น ตรวจสายตา การได้ยิน ตรวจคลื่นสมอง เชาวน์ปัญญา และความสามารถทางการเรียน เพื่อช่วยวินิจฉัยแยกโรคที่มีอาการใกล้เคียง

โรคสมาธิสั้นสามารถรักษาได้โดยการผสมผสานหลายๆด้านเข้าด้วยกัน ดังนี้ 1.การรักษาด้วยยา เริ่มจากยาที่ใช้ได้ผลสำหรับโรคสมาธิสั้น คือยาในกลุ่ม Psychostimulants เป็นยาที่ปลอดภัย มีผลข้างเคียงน้อย ออกฤทธิ์กระตุ้นเซลล์สมองให้หลั่งสารเคมีธรรมชาติออกมาในระดับของเด็กปรกติ ยากลุ่มนี้ช่วยให้เด็กสามารถควบคุมตัวเองได้ดี มีสมาธิมากขึ้น

2.การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเด็กและคนในครอบครัว ควรให้ความรักและการเอาใจใส่ดูแลเด็กมากขึ้น ซึ่งคนในครอบครัวต้องเข้าใจว่าสมาธิสั้นเป็นความผิดปรกติที่เกิดจากการทำงานของสมอง พฤติกรรมของเด็กไม่ได้เกิดจากความตั้งใจที่จะก่อกวนให้เกิดปัญหา แต่เกิดจากเด็กไม่สามารถควบคุมตนเองได้ ดังนั้น จึงต้องปรับพฤติกรรมโดยจัดตารางเวลาที่ชัดเจนว่า ในแต่ละวันเด็กต้องทำอะไรบ้าง จัดสถานที่ให้เด็กทำการบ้าน อ่านหนังสือ โดยไม่มีใครรบกวน แต่ถ้าเด็กขาดสมาธิง่ายจำเป็นต้องมีผู้ใหญ่นั่งอยู่ด้วยช่วงระหว่างทำการบ้าน

นอกจากนี้ พ่อแม่ควรหลีกเลี่ยงการดุหรือตำหนิ ไม่ลงโทษเด็กด้วยความรุนแรง ควรมีการตั้งกฎเกณฑ์ไว้ล่วงหน้าเมื่อเด็กทำผิด เช่น งดดูทีวี งดขี่จักรยาน หรือหักค่าขนม และให้เหตุผลตามกฎเกณฑ์ที่วางไว้ร่วมกัน พ่อแม่ต้องมีความอดทน เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเด็กไปใน ทางที่ดีขึ้นอาจต้องใช้เวลาหลายปี

3.การช่วยเหลือด้านการเรียน เด็กสมาธิสั้นส่วนใหญ่จะมีปัญหาการเรียน คุณครูจึงต้องมีบทบาทที่จะช่วยเหลือเด็กสมาธิสั้นให้เรียนได้ดี โดยจัดที่นั่งให้เหมาะสม ให้เด็กสมาธิสั้นนั่งอยู่หน้าชั้นเรียน ไกลจากประตูหรือหน้าต่าง เพื่อลดโอกาสการถูกทำให้วอกแวกจากสิ่งเร้าภายนอก

พ่อแม่ที่มีลูกน้อยเป็นโรคสมาธิสั้นจำเป็นต้องเรียนรู้เทคนิคที่ถูกต้อง และแจ้งให้คุณครูทราบ เพราะถ้าไม่รักษาอย่างถูกต้องตั้งแต่เด็ก โตขึ้นอาจมีผลกระทบทั้งตัวเด็กและครอบครัว