ที่มา : เว็บไซต์เดลินิวส์ 

http://www.thaihealth.or.th/

โดย : พญ.ทิชา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ หน่วยภูมิแพ้ อิมมูโนวิทยาและโรคข้อคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

 

โรคภูมิแพ้เกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย เช่น ปัจจัยทางพันธุกรรม แต่ก็ยังพบว่า สิ่งแวดล้อมก็มีส่วนสำคัญได้เช่นเดียวกัน

กลุ่มเสี่ยงที่สามารถเป็นโรคภูมิแพ้ได้นั้น มีตั้งแต่ในเด็ก ผู้ใหญ่ และคนวัยทำงาน ซึ่งโรคภูมิแพ้ในวัยทำงานที่พบ อาทิ โรคโพรงจมูกและเยื่อบุตาอักเสบ จนถึงโรคหืด อาการของโรค ได้แก่ อาการคันตามเยื่อบุจมูกและตา จาม น้ำมูกไหลและคัดจมูก ในรายที่มีอาการน้อยอาจมีอาการจามและน้ำมูกไหลเพียงบางครั้ง แต่เยื่อบุจมูกอาจอักเสบจนกลายเป็นอาการคัดจมูกเรื้อรัง มีผลทำให้เป็นไซนัสอักเสบได้ง่าย

          นอกจากนี้ เมื่อเป็นหวัดจะมีอาการปวดศีรษะ หูอื้อง่าย หรือมีน้ำมูกจากโพรงจมูกตกลงที่หลังคอ ทำให้มีอาการไอหรือกระแอมบ่อย โดยเฉพาะตอนเช้า จนอาจทำให้จมูกตันต้องอ้าปากหายใจเป็นระยะ และอาจทำให้ริมฝีปากแห้ง ต้องเลียริมฝีปากอยู่บ่อย ๆ อาการเหล่านี้แม้ไม่รุนแรง แต่หากเป็นต่อเนื่องอาจมีผลต่อการนอนหลับ ทำให้นอนไม่อิ่ม มีอาการง่วงกลางวัน สมาธิในการเรียนการทำงานลดลง บางรายที่มีอาการมากอาจทำให้เสียบุคลิกภาพ มีปัญหาในการเข้าสังคมและการทำกิจกรรมต่าง ๆ     

          หากมีอาการดังกล่าวและสันนิษฐานว่าเป็นอาการของโรคภูมิแพ้ ควรดูแลรักษาด้วยวิธีปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมเพื่อลดปริมาณสารก่อภูมิแพ้และลดการสัมผัสสารมลพิษควบคู่กับการใช้ยา สารก่อภูมิแพ้ที่เป็นสาเหตุภาวะโพรงจมูกอักเสบได้บ่อยในประเทศไทย ได้แก่ ไรฝุ่น ซึ่งพบมากในหมอน ผ้าห่ม เตียง ผ้าม่าน พรม จนถึงหนังสือและของเล่นเก่า ๆ ห้องที่ควรปรับเปลี่ยนเป็นอันดับแรกคือ ห้องนอน โดยควรเลือกใช้เตียงที่บุด้วยใยสังเคราะห์ หลีกเลี่ยงขนสัตว์ นำหมอนเก่าและตุ๊กตาเก่า พรมและหนังสือที่ไม่จำเป็นออกจากห้องนอน ควรซักล้างผ้าปูเตียง ปลอกหมอนและผ้าม่านอย่างสม่ำเสมอและให้อากาศภายในห้องถ่ายเท ไม่อับชื้น ส่วนมลพิษที่ควรหลีกเลี่ยงได้แก่ ควันบุหรี่ ควันจากท่อไอเสียและกลิ่นฉุน

          ยารักษาที่แนะนำมี 2 กลุ่ม ได้แก่ ยาฮีสตามีนแบบรับประทานและยาสเตียรอยด์แบบพ่นจมูก แบบแรกแนะนำให้ใช้ยารุ่นใหม่ ซึ่งไม่ทำให้ง่วง เพราะหากรับประทานยารุ่นเก่าติดต่อกันนาน ๆ จะมีผลต่อการรับรู้ของสมอง ทำให้สมาธิในการเรียนและการทำงานลดลง และอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุระหว่างการขับรถหรือการทำงานได้ ส่วนยาสเตียรอยด์แบบพ่นจมูก เป็นยาหลักในการรักษาโพรงจมูกอักเสบที่มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูงและสามารถลดอาการของโพรงจมูกอักเสบได้ทุกอาการ

          หากปฏิบัติดังกล่าวมาแล้วอาการไม่ดีขึ้น แนะนำให้พบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุอื่นของภาวะโพรงจมูกอักเสบ เช่น การติดเชื้อไซนัสอักเสบเรื้อรัง โพรงจมูกคด ติ่งเนื้อในจมูก ภาวะจมูกตันจากฮอร์โมนและการตั้งครรภ์ เยื่อบุจมูกแห้งจนถึงจมูกอักเสบไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งส่วนมากเกิดจากหลอดเลือดในเยื่อบุจมูกไวต่อสิ่งกระตุ้น รวมถึงอาจทดสอบหาสิ่งที่แพ้ เพื่อพิจารณาปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมให้ครอบคลุมขึ้น จนถึงพิจารณารักษาด้วยการฉีดวัคซีนภูมิแพ้ในรายที่แพ้ไรฝุ่นหรือเกสรดอกหญ้า

          เมื่อทราบอย่างนี้แล้ว อย่าลืมตรวจเช็กว่ามีอาการดังกล่าวหรือไม่ พร้อมทั้งสำรวจสิ่งแวดล้อมภายในบ้าน โดยเฉพาะห้องนอนและที่ทำงานว่ามีสภาพเช่นไร แม้โรคภูมิแพ้โพรงจมูกอักเสบจะไม่มีอันตรายต่อชีวิต แต่สามารถรบกวนคุณภาพชีวิตและอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ไซนัสอักเสบเรื้อรัง และในรายที่มีอาการรุนแรงอาจพัฒนาเป็นโรคหืดได้ ในกรณีนี้ ควรพบแพทย์เพื่อประเมินและติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่อง  เนื่องจากโรคหืดมีภาวะทุพพลภาพและมีโอกาสเสียชีวิตจากหืดกำเริบเฉียบพลันได้