ที่มา : เว็บไซต์ ASTV ผู้จัดการออนไลน์

http://www.thaihealth.or.th/

โดย : ผศ.ดร.นพ. สืบวงศ์ จุฑาภิสิทธิ์ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

 

"ต่อมไทรอยด์" เป็นอวัยวะในร่างกายบริเวณคอ และเป็นต่อมไร้ท่อที่ใหญ่ที่สุดในร่างกาย (ต่อมไร้ท่อ หมายถึง ต่อมที่สร้างสารที่เรียกว่า “ฮอร์โมน” ในต่อม และปล่อยฮอร์โมนนั้นเข้าสู่กระแสเลือดและไปทำงานในอวัยวะอื่นในร่างกาย)

เมื่อตรวจพบก้อนที่ต่อมไทรอยด์แล้วควรจะต้องทำอย่างไร

หากท่านตรวจพบก้อนที่คอ ที่เคลื่อนที่ขึ้นลงตามการกลืนได้แล้ว และสงสัยว่าเป็นก้อนที่ต่อมไทรอยด์ ควรจะไปปรึกษาแพทย์ โดยทั่วไปแพทย์จะทำการเจาะเลือดตรวจเพื่อวินิจฉัยว่าเป็นก้อนที่มีการสร้างฮอร์โมนไทรอยด์มากเกินกว่าปกติหรือไม่

หากผลการเจาะเลือด พบว่า ระดับฮอร์โมนในเลือดปกติ การตรวจในขั้นต่อไป คือ การส่งตรวจคลื่นเสียงความถี่สูง หรือการตรวจอัลตราซาวนด์ของต่อมไทรอยด์ ซึ่งการตรวจดังกล่าวจะทำให้สามารถเห็นลักษณะของก้อนที่ละเอียดได้

ลักษณะของก้อนที่เป็นของแข็ง มีขอบไม่เรียบ มีหินปูนในก้อน มีความสูงมากกว่าความกว้าง มีเส้นเลือดมาเลี้ยงบริเวณก้อนมาก ทำให้แพทย์ต้องสงสัยว่าอาจมีโอกาสเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์ได้ และหากพบลักษณะดังกล่าวข้างต้น แพทย์จะแนะนำให้เจาะเอาเซลล์ในก้อนนั้นไปส่งตรวจอย่างละเอียด เพื่อการวินิจฉัยที่แม่นยำต่อไป
การเจาะตรวจก่อนที่ต่อมไทรอยด์ เป็นการตรวจที่ไม่ยุ่งยาก และมักจะไม่ได้สร้างความเจ็บปวดกับผู้ป่วยมาก แพทย์จะใช้เข็มฉีดยาขนาดเล็กเจาะผ่านผิวหนังไปในก้อนโดยตรง และทำการสุ่มเอาเซลล์ในก้อนนั้นออกไปตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพื่อช่วยยืนยันว่าก้อนดังกล่าวเป็นเนื้องอกธรรมดา หรือเนื้อมะเร็งต่อมไทรอยด์

มะเร็งต่อมไทรอยด์มีกี่แบบและแต่ละแบบมีความรุนแรงแตกต่างกันหรือไม่ อย่างไร

มะเร็งต่อมไทรอยด์มีหลายชนิด ขึ้นอยู่กับว่าเซลล์เริ่มต้นมีการเปลี่ยนแปลงเกิดจากเซลล์อะไร แต่โดยทั่วไปแล้วมะเร็งของต่อมไทรอยด์ที่พบได้บ่อยที่สุด คือ มะเร็งของต่อมไทรอยด์ชนิดแปปปิลลารี (papillary) รองลงมาคือ มะเร็งต่อมไทรอยด์ชนิดฟอลลิคูลา (follicular) ซึ่งมะเร็งทั้งสองอย่างถือว่าเป็นมะเร็งที่มีความรุนแรน้อย เพราะแบ่งตัวเจริญเติบโตช้า แต่ก็มีมะเร็งต่อมไทรอยด์บางชนิดที่เติบโตแบ่งตัวเร็ว ทำให้ก้อนมักมีขนาดใหญ่และรักษายาก นั่นคือ มะเร็งต่อมไทรอยด์ชนิดอะนาพลาสติก (anaplastic)

เมื่อวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์แล้วจำเป็นต้องผ่าตัดหรือไม่

เมื่อได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งต่อมไทรอยด์แล้ว การรักษาที่เหมาะสมที่สุดในปัจจุบัน คือ การผ่าตัด ซึ่งการผ่าตัดอาจจะรวมไปถึงการผ่าตัดทั้งที่ต่อมไทรอยด์ และการผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองที่คอ (เฉพาะผู้ป่วยบางรายการที่มีการกระจายไปต่อมน้ำเหลืองที่คอแล้ว)

สำหรับแนวทางการผ่าตัด อาจทำได้โดยการผ่าตัดต่อมไทรอยด์ออกทั้งหมด หรือการผ่าตัดต่อมไทรอยด์ออกเพียงข้างใดข้างหนึ่งก็ได้ ทั้งนี้ แพทย์จะเป็นผู้เลือกวิธีการผ่าตัดที่เหมาะสมที่สุด ที่อาจจะแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละราย 

ภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดที่สำคัญที่ผู้ป่วยที่จะเข้ารับการผ่าตัดต่อมไทรอยด์มักจะกังวลเสมอ คือ ภาวะเสียงแหบจากการบาดเจ็บของเส้นประสาทที่ไปเลี้ยงบริเวณกล่องเสียง และภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำภายหลังการผ่าตัด ซึ่งภาวะทั้งสองมีโอกาสเกิดขึ้นได้จริงระหว่างการผ่าตัด แต่หากการผ่าตัดทำโดยศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญแล้ว โอกาสในการเกิดความผิดปกติจากภาวะทั้งสองแบบถาวรมีต่ำมาก (น้อยกว่า 1%)

หลังการผ่าตัดจะต้องให้เคมีบำบัดหรือฉายรังสีรักษาหรือไม่

หลังการผ่าตัดเพื่อรักษามะเร็งต่อมไทรอยด์แพทย์จะส่งชิ้นเนื้อไปทำการตรวจอย่างละเอียดทางห้องปฏิบัติการและประเมินดูว่ามะเร็งนั้น มีความรุนแรงมากน้อยเพียงใด หากพบว่ามะเร็งนั้นไม่ใช่มะเร็งที่มีความเสี่ยงต่ำ แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยรับการรักษาต่อด้วยการใช้สารรังสีไอโอดีน หรือที่เรียกว่า การกลืนน้ำแร่ การรักษาด้วยยาเคมีบำบัด หรือการฉายรักสีรักษา ไม่ค่อยมีความจำเป็นในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งต่อมไทรอยด์ และมักจะใช้เฉพาะในผู้ป่วยบางรายเท่านั้น ทีมีการกลับซ้ำของโรคหรือในระยะลุกลามที่เป็นมากแล้วเท่านั้น

ผลการรักษามะเร็งต่อมไทรอยด์เป็นอย่างไร มีโอกาสหายหรือไม่

การรักษามะเร็งต่อมไทรอยด์ในปัจจุบันให้ผลดีมาก และมีโอกาสในการหายขาดสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นมะเร็งไทยรอยด์ชนิดแปปปิลลารีและฟอลลิคูลา เนื่องจากการรักษาจะตอบสนองดีกับการผ่าตัดและใช้รังสีไอโอดีน โดยที่ผู้ป่วยจะมีอัตราการรอดชีวิตมากกว่า 95% หลังจากผ่านไปแล้ว 10 ปี