ที่มา www.thairath.co.th

http://www.thaihealth.or.th/

โดย ศาสตราจารย์นายแพทย์วชิร คชการ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี

 

ฮอร์โมนเพศชายที่จะกล่าวถึงเป็นหลัก คือ ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน ซึ่งผลิตจากลูกอัณฑะ มีบทบาทสําคัญในพัฒนาการทางเพศ ทําให้เด็กผู้ชายที่ก้าวเข้าสู่วัยรุ่น มีลักษณะของเพศชาย ได้แก่ มีเสียงห้าว มีหนวด เครา และอวัยวะเพศมีพัฒนาการมากขึ้น

ส่วนเซลล์ในลูกอัณฑะเองก็อยู่ภายใต้อิทธิพลของต่อมใต้สมอง ทําให้การผลิตฮอร์โมนเป็นไปตามปกติ หากเซลล์ในอัณฑะไม่ตอบสนองต่อการควบคุมจากต่อมใต้สมอง ก็จะทําให้การผลิตฮอร์โมนเพศลดลง การไม่ตอบสนองต่อต่อมใต้สมองอาจจะเกิดจากการป่วยเรื้อรังของโรคบางชนิด เช่น เบาหวาน โรคอ้วน การดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ เป็นต้น

นอกจากฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนที่ผลิตจากอัณฑะแล้ว ต่อมหมวกไตยังผลิตฮอร์โมนเพศชายได้อีก ประมาณร้อยละ 5 แต่มีฤทธิ์ที่อ่อนกว่าที่ผลิตจากอัณฑะ จึงมีบทบาทไม่มากนัก

สําหรับฮอร์โมนเพศชายนั้น ปกติจะมีระดับสูงขึ้น 3 ช่วง โดยช่วงแรก คือ ช่วงที่อยู่ในครรภ์มารดา ขณะที่มีการพัฒนาของตัวอ่อน ช่วงที่สอง คือ ช่วงอายุ 2-5 เดือน และช่วงที่สามเมื่อย่างเข้าสู่วัยรุ่น

ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนประมาณร้อยละ 98 จะจับกับโปรตีนในกระแสเลือด อีกร้อยละ 2 จะล่องลอยเป็นอิสระ ทําให้เซลล์ต่างๆ สามารถใช้ฮอร์โมนนี้ได้ เมื่ออายุมากขึ้นปริมาณโปรตีนที่จะจับกับฮอร์โมนมีมากขึ้น ทําให้ฮอร์โมนที่เป็นอิสระมีปริมาณลดลง

การวินิจฉัยภาวะพร่องฮอร์โมนเพศในเพศชาย จะพิจารณาจากอาการและการตรวจทางห้องปฏิบัติการเป็นหลัก ส่วนใหญ่มักมีอาการร่วมกันหลายอย่าง เช่น มีภาวะซึมเศร้า ความต้องการทางเพศลดลง สมรรถภาพทางเพศลดลง กล้ามเนื้อไม่แข็งแรง นอนไม่หลับ ความจําไม่ดี ขาดความคิดริเริ่ม แต่บางครั้งอาการเหล่านี้ก็มีสาเหตุมาจากโรคอื่นๆ ได้ เช่น ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ โรคทางจิตประสาท โรคทางสมอง โรคทางกล้ามเนื้อ ดังนั้นหากไม่ได้แยกโรคเหล่านี้ออกไป การรักษาอาจจะไม่ได้ผล หรือแก้ไขไม่ตรงจุด และกลับทําให้อาการแย่ลงได้.